ที่สุดแห่งกองทุกข์คือพระนิพพาน
จะมีใครสักกี่คนในโลกนี้ที่รู้ว่า “ที่สุดแห่งกองทุกข์คือพระนิพพาน” และตราบใดที่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายยังไม่ถึงพระนิพพานนั่นก็หมายถึงยังไม่ถึงที่สุดแห่งกองทุกข์เช่นกัน
เราทั้งหลายต่างปฏิบัติเพื่อไปให้ถึงซึ่งพระนิพพานเพราะมีความรู้สึกว่าพระนิพพานคือความสุข
คือความสงบ
หรืออาจจะเปรียบได้กับสวรรค์ก็ว่าได้และไม่มีอะไรเสมอเหมือนจึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อจะไปให้ถึง
อาจจะด้วยวิธีใดก็ได้โดยไม่ได้เข้าไปรู้เลยว่า
การปฏิบัติเพื่อให้ถึงซึ่งพระนิพพานนั้นมันเป็นเช่นไร
อาศัยเพียงแค่ความอยากเท่านั้นคิดว่าคงพอ มันไม่ใช่เลย พระนิพพานไม่ได้เข้าถึงด้วยความอยากแต่เข้าถึงด้วยปัญญา
ปัญญาที่จิตมันยอมรับความจริงไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าจะเป็นเช่นไร
ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความสุขหรือความทุกข์
ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่น่ายินดีพอใจหรือไม่น่ายินดีพอใจ
หรือแม้กระทั้งสิ่งนั้นจะเป็นบาปหรือเป็นบุญ
จิตของผู้ปฏิบัติก็จะต้องยอมรับได้ทั้งนั้น
และจะต้องยอมรับด้วยจิตใจที่เป็นกลางหรือการวางจิตให้เป็นอุเบกขาไม่เอนเอียงไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและจะต้องวางด้วยตัวของมันเองนะไม่ได้วางด้วยการกระทำหรือการกดข่ม
หากทำได้เช่นนี้ก็คงถึงซึ่งพระนิพพานเข้าสักวันไม่วันใดก็วันหนึ่ง….
คนทั้งหลายต่างปฏิบัติเพื่อจะไปให้ถึงพระนิพพานเพื่อจะได้พบสุข
แต่จะมีใครสักกี่คนที่ปฏิบัติเพื่อไปให้ถึงที่สุดแห่งกองทุกข์
ต่างกันนะระหว่างความรู้สึกของสองสิ่งนี้ราวฟ้ากับดินเลยเชียวหละ
หากวันนี้ผู้เขียนบอกว่า “เรามาปฏิบัติเพื่อไปให้ถึงพระนิพพานกันเถอะ” เชื่อไหมว่าจะต้องมีผู้ปฏิบัติจำนวนมากที่สนใจใคร่อยากจะปฏิบัติตามเพราะมีความรู้สึกว่าอยากจะได้สุข
แต่ถ้าผู้เขียนบอกว่า “เราทั้งหลายมาปฏิบัติเพื่อให้ถึงที่สุดแห่งกองทุกข์กันเถอะ” เชื่อไหมว่าแทบจะไม่มีใครสนใจเลยเพราะมีความรู้สึกว่ามันคือทุกข์
หนทางข้างหน้าก็คงจะต้องเต็มไปด้วยกองทุกข์และขวากหนามที่จะต้องฝ่าฟัน
ไม่เอาดีกว่า อยู่อย่างนี้ก็มีความสุขดีอยู่แล้วจะไปหาเรื่องใส่ตัวทำไม
และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ การที่จะทวนกระแสกิเลสตัณหานั้นเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง
และก็ไม่รู้ด้วยว่ามันจะไปสิ้นสุดตรงไหนและเมื่อไหร่ เราทุกคนจึงไม่อยากแม้แต่จะได้ยินคำๆนี้เพราะมีความรู้สึกว่ามันคือ
“นรก” ไม่ใช่ “สวรรค์” เหมือนดั่งคำว่า “พระนิพพาน”
ผู้ปฏิบัติทั้งหลายต่างไม่รู้เลยว่า “คำสองคำนี้” มันคือสิ่งเดียวกัน
เมื่อไหร่ถึงที่สุดแห่งกองทุกข์เมื่อนั้นแหละก็จะถึงซึ่งพระนิพพานพร้อมกันไปด้วย
ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลยจะต่างกันก็ตรงที่ “ความรู้สึก” ของผู้ปฏิบัติทั้งหลายเองเท่านั้นที่พยายามแยกความจริงของสองสิ่งนี้ออกจากกันเพราะมีความรู้สึกว่ามันเป็นคนละตัวกันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
เพราะฉะนั้นความรู้สึกในการปฏิบัติก็เลยต่างกัน คนหนึ่งปฏิบัติด้วยความอยากพบสุข
อีกคนปฏิบัติด้วยความอยากสิ้นทุกข์
คุณรู้สึกไหมเมื่อได้อ่านประโยคนี้แรงผลักทางด้านจิตใจมันไม่เหมือนกัน
คนหนึ่งแรกผลักมันยังไม่เต็มที่ที่ไม่เต็มที่นั้นก็เพราะความสุขที่ตัวเองได้รับอยู่ก่อนแล้วมันยังรั้งอยู่
ส่วนอีกผู้หนึ่งแรงผลักมันเต็มที่ๆเพราะจิตมันเห็นแล้วว่าที่ว่าสุขนั้นมันก็ยังเป็นสุขที่ไม่ใช่ของจริง
เป็นสุขที่ขึ้นๆลง เป็นสุขที่จอมปลอม
ส่วนทุกข์นั้นไม่ต้องพูดถึงเลยเพราะว่าความสุขเมื่อไม่เอาเสียแล้วความทุกนั้นก็แทบจะไม่มีความหมายใดๆเลย
แล้วคุณคิดว่าหากคนสองคนนี้ปฏิบัติเพื่อไปให้ถึงพระนิพพานหรือที่สุดแห่งกองทุกข์ “ใคร” จะไปถึงก่อนกัน….
ที่ผู้เขียนสามารถพูดเช่นนี้ได้เพราะผู้เขียนได้เดินผ่านทั้งสองเส้นทางนี้มาแล้ว
ทั้งเส้นทางของพระนิพพานและเส้นทางของที่สุดแห่งกองทุกข์
ถึงรู้ได้ถึงความอยากได้พระนิพพานมันเป็นความอยากพบสุขจริงๆ แต่อยากนี้มักจะไม่ค่อยมีปัญญา
เป็นความอยากที่ตั้งอยู่บนความฝันๆว่า
สักวันหนึ่งเราจะต้องไปให้ถึงพระนิพพานให้ได้
อยากอยู่อย่างนั้นแหละตัวลอยใจลอยไปหมด ปฏิบัติไปๆก็ไม่ถึงสักที
ที่ไม่ถึงเพราะปฏิบัติด้วยความโลภ ด้วยความอยากได้
สุดท้ายแล้วก็ต้องปล่อยๆเพราะไปไม่ถึง…..
ส่วนเส้นทางที่สุดแห่งกองทุกข์นั้น
เป็นเส้นทางของ “ความจริง” ไม่ใช่เส้นทางของความเพ้อฝัน
ความจริงคืออะไร ความจริงก็คือจะต้อง “ปฏิบัติ” ปฏิบัติในที่นี้คือการ
“ทวนกระแส” ทวนกระแสแห่งกิเลส-ตัณหา-อุปทาน
กระแสแห่งกิเลสคืออะไร
กระแสแห่งกิเลสก็คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง
กระแสแห่งตัณหาคืออะไร
กระแสแห่งตัณหาก็คือ ความอยากและความไม่อยาก
กระแสแห่งอุปทานคืออะไร
กระแสแห่งอุปทานก็คือ ความยึดมั่นถือมั่น
“สามสิ่ง” นี่แหละเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง
ผู้ปฏิบัติทั้งหลายจะต้องทวนมันให้ได้
ไม่ว่ามันจะมีกระแสอันเชี่ยวกรากขนาดไหนก็ต้องทวนมันแล้วก็ต้องผ่านมันไปให้ได้
เพราะมันคือหนทาง “รอด” เพียงทางเดียวเท่านั้น
รู้สึกไหมพอผู้เขียนๆถึงการ “ทวนกระแส” จิตใจมันเริ่มที่จะห่อเหี่ยวหรือเริ่มที่จะไม่เต็มที่กับเส้นทางนี้แล้ว
เพราะจิตมันเริ่มเห็นแล้วว่ามันไม่ใช่เป็นเรื่องที่ง่ายเลยสำหรับผู้ปฏิบัติ “ใช่” มัน “ไม่ง่าย” เลยแต่มันก็ “ไม่ยาก”ไปกว่า “จิตใจที่เข็มแข็ง” ของผู้ปฏิบัติเอง
เส้นทางข้างหน้าอาจจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
แต่ผู้เขียนสามารถเอาชีวิตเป็นประกันได้เลยว่า “ผลของมันช่างหอมหวานและวิเศษสุดเท่าที่ชีวิตของผู้เขียนได้เคยสัมผัสจากการได้เกิดมาเป็นมนุษย์” และเป็นความหอมหวานอย่างที่จะหาอะไรมาเปรียบมิได้เลย
สุขอยู่อย่างนั้นแหละ สุขด้วยตัวของมันเองและเป็นความสุขที่เป็น “อมตะ” ด้วยนะ
สุขที่ไม่ต้องขึ้นตรงต่อสิ่งใด เป็นความสุขที่ตั้งอยู่บนความวางเฉยหรืออุเบกขา
อยากนะ
อยากให้ผู้ปฏิบัติทุกท่านเข้ามาลิ้มลองความสุขชนิดนี้ดู
รับลองเลยว่าทุกท่านก็จะต้องกล่าวเช่นเดียวกับที่ผู้เขียนได้กล่าวเอาไว้
มันเหมือนได้อยู่ในโลกอีกโลกหนึ่ง ซึ่งโลกที่ว่านี้ไม่ใช่โลกของแดนสวรรค์
ไม่ใช่โลกของแดนพรหมและไม่ใช่โลกของแดนใดๆทั้งสิ้น แต่เป็นโลกของความ “ว่างเปล่า” ว่างเปล่าจากตัวตน
บุคคล สัตว์ เราและเขา ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า
แล้วความว่างเปล่ามันจะทำให้เราเป็นสุขได้อย่างไร…… เป็นสุขซิ
เป็นสุขที่วิเศษสุดเสียด้วย เพราะความว่างเปล่านี้เป็นความว่างเปล่าจาก “กิเลส-ตัณหา-อุปทาน” ที่เป็นเครื่องแสดแทงมนุษย์และสัตว์บนโลกนี้ให้จมอยู่ใน
“กองทุกข์” อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น
เทวดา มนุษย์และสัตว์
ทั้งหลายจงมาลองดูเถิด
เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทุกพระองค์ท่านทรงเดินผ่านมาแล้ว…..
และถึงแล้ว…..ที่สุดแห่งการเกิด
ที่สุดแห่งการแก่ ที่สุดแห่งการเจ็บ ที่สุดแห่งการตายและท้ายที่สุด…….ที่สุดแห่งกองทุกข์
ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์สิ้นแล้ว สิ่งที่ควรกระทำก็ได้ทำเสร็จแล้ว
ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นไปเพื่อสิ่งนี้อีกแล้ว
ที่สุดแห่งความสุขได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา……..
นิพพิทาญาณ
มีนักปฏิบัติเป็นจำนวนมากที่พยายามจะนำพาจิตของตนให้ไปสู่
“นิพพิทา” คือความเบื่อหน่าย
ความคลายกำหนัด
เพราะสิ่งๆนี้มันเหมือนเป็นสิ่งที่สามารถนำพาจิตของผู้นั้นให้รอดพ้นจากทุกข์ได้
การที่จิตของผู้ปฏิบัติๆไปจนเกิดนิพพิทาจริงๆได้นั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก
ทำไมผู้เขียนจึงพูดเช่นนี้ เพราะครั้งหนึ่งผู้เขียนก็เคยเกิดจิตที่ “เบื่อหน่าย” เบื่อหน่ายจริงๆเบื่อหน่ายกับทุกๆเรื่อง
และหลงคิดไปว่ามันเป็นความเบื่อหน่ายที่เรียกว่า นิพพิทา
ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะจิตมันเกิดความเบื่อหน่ายก็จริงแต่มันไม่ได้ “คลายกำหนัด” คือความยึดมั่น
ยึดมั่นต่ออะไร ยึดมั่นต่อ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์
เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นได้เพียงจิตเกิดความเบื่อหน่าย…..เบื่ออะไรก็ไม่รู้
รู้แต่ว่ามันเบื่อไปเสียทุกเรื่อง ยกเว้น เบื่อสุขนะ
จิตมันยังไม่เบื่อสุขเพราะจิตมันยังรู้สึกว่า “สุข” มันยังเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้
สุขเกิดเมื่อไหร่ความเบื่อหน่ายก็จะไปเมื่อนั้น……และนี่แหละผู้เขียนจึงบอกว่า
มันยังไม่ใช่ “นิพพิทาญาณ” คือความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด
เพราะถ้าเป็นนิพพิทาญาณจริงๆแล้วละก็ มันเบื่อหมดเลย
เบื่อทั้งสุขและเบื่อทั้งทุกข์ จิตมันอยากจะพ้นทุกข์เพียงอย่างเดียว
และจิตชนิดนี้มันจะไม่ดิ้นรนด้วยนะ มันจะเป็นจิตที่เป็นอุเบกขา อุเบกขาต่ออะไร
อุเบกขาต่ออารมณ์ที่เข้ามายั่วยุทางทวารทั้งหก อันได้แก่ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง
จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายได้สัมผัส และใจที่ปรุงอารมณ์ …….นี่
มันต้องเป็นเช่นนี้ แต่ที่ผู้ปฏิบัติเบื่อๆกันนั้นมันยังเป็นการ “เบื่ออารมณ์” และการเบื่ออารมณ์นี้ก็รวมไปถึงอารมณ์ที่มันเฉยๆด้วยนะ
แต่พอมีสิ่งยั่วยุทาง หู ตา จมูก ลิ้น กายและใจ อาการเบื่อทั้งหลายมันก็จะหายไป
หากผู้ปฏิบัติมีปัญญาก็จะเห็นเลยว่า
อารมณ์ต่างๆทั้งที่ชอบใจและไม่ชอบใจและรวมไปถึงอารมณ์เฉยๆ
ต่างก็แสดงไตรลักษณ์ให้เราเห็นนั่นก็คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่มีตัวตน
อย่าทิ้งนะ “ไตรลักษณ์” สำคัญมากสำหรับผู้ปฏิบัติภาวนาเพราะทุกอย่างบนโลกใบนี้ไม่มีสิ่งใดเลยที่จะพ้นไปจากไตรลักษณ์
แต่ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่มักมองข้ามเพราะไม่เห็นความสำคัญของสิ่งๆนี้
แต่กลับไปให้ความสำคัญต่ออารมณ์ที่ปรากฏและเผลอเข้าไปเพ่ง จ้อง
ต่ออารมณ์นั่นๆจนมองข้ามกฎของธรรมชาติ(ไตรลักษณ์)ตัวนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
เห็นไหมมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ “นิพพิทาญาณ” จะเกิดขึ้นแต่ถ้าเกิดขึ้นแล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะไปให้ถึงที่สุดแห่งกองทุกข์หรือมรรคผลนิพพาน
และจุดประสงค์ของผู้เขียนที่เขียนบอกเอาไว้ในวันนี้ก็ไม่ใช่ให้จิตของผู้ปฏิบัติเกิดความท้อแท้และท้อถอยนะ
เพียงแต่ต้องการให้รู้ความจริงเท่านั้น รู้ความจริงเพื่ออะไร
ก็เพื่อวันใดวันหนึ่งที่จิตมันไม่สามารถจะถอนจากความเบื่อหน่ายได้ก็จะได้ไม่เกิดความท้อถอยว่า
“ชาตินี้เราคงจะไปไม่ถึงพระนิพพานเป็นแน่” แล้วก็หยุดการปฏิบัติ
เมื่อหยุดการปฏิบัติมันก็เหมือนกับการไหลไปตามกระแสกิเลส-ตัณหาอีกครั้งหนึ่ง
และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆมีผู้ปฏิบัติเป็นจำนวนมากที่จิตเกิดความท้อถอยและท้อแท้
เพราะพยายามปฏิบัติไปๆมันก็ไม่ถึงไหนซะที จิตเกิดความเบื่อหน่ายแล้วเบื่อหน่ายอีกมันก็ยังย่ำอยู่ที่เดิมเดินปัญญาต่อไปไม่ได้……
เพราะฉะนั้นต่อไปนี้จิตเกิดความเบื่อหน่ายก็ให้รู้ว่าเบื่อหน่ายอย่าไปใส่ใจกับมันให้มากนัก
แล้วหันกลับมาพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
แทนนั่นคือการเอาจิตกลับมาแนบอยู่กับกายไม่ให้ส่งจิตออกนอก โดยพิจารณาว่า ผมที่เคยดำบัดนี้มันก็เริ่มที่จะมีหงอกขึ้นมาหรือพิจารณาผมที่ร่วงหล่นก็ได้
ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็เช่นกันพยายามเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์
ไม่มีตัวตนของสิ่งต่างๆ ส่วนตัวของผู้เขียนนั้นพิจารณาผม
กับหนังแล้วจิตมันเห็นความจริง เพราะผมจากดำมันเริ่มที่จะมีหงอกส่วนหนังนั้นมันก็เริ่มที่จะเหี่ยวย่นไปตามวัยของมัน
เห็นความจริงเช่นนี้แล้วจิตมันก็รู้สึกได้ถึงความไม่เที่ยงของสกลร่างกายนี้ว่ามันบังคับไม่ได้ถึงแม้นไม่อยากให้มันเป็นเช่นนี้มันก็ทำไม่ได้
เมื่อทำไม่ได้ก็ “ยอมรับ” การยอมรับนั่นแหละคือการยอมรับธรรมชาติซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกผู้ทุกนามจะต้องยอมรับและและให้ความ
“เคารพ” มนุษย์ที่เป็นทุกข์ทุกวันนี้ก็เพราะไม่ยอมรับกฎของธรรมชาติ
และพยายามที่จะ “สู้” ยิ่งสู้ก็ยิ่งแพ้
ทำไมถึง “แพ้” เพราะไม่ได้ต่อสู้ด้วยปัญญาคือเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริงแต่เป็นการต่อสู้ด้วย
“ทิฐิมานะ
อัตตาตัวตน” แล้วคุณคิดว่ามันจะ “ชนะ”ไหม
ไม่มีวันชนะหรอกเพราะชัยชนะที่แท้จริงนั้นมันอยู่ “หลัง” การพ่ายแพ้
แค่คุณยอมแพ้มันคุณก็จะชนะมันพร้อมกันไปด้วย ทำไมผู้เขียนถึงบอกเช่นนี้
เพราะผู้เขียนได้ประสบมากับตัวผู้เขียนเองหมดแล้ว ทิฐิมานะ อัตตาตัวตน
มันไม่ได้ช่วยอะไรๆได้เลยแม้แต่นิดเดียวมีแต่จะพาจิตใจของผู้ปฏิบัติให้จมลงสู่ก้นเหวของอเวจีแต่เพียงถ่ายเดียวเท่านั้น
ผู้รู้-ผู้ไม่รู้
ในโลกนี้มีคนอยู่สองประเภท
ประเภทหนึ่งคือผู้รู้และอีกประเภทหนึ่งคือผู้ไม่รู้ รู้สึกไหมเมื่อได้อ่านประโยคนี้
จิตของผู้อ่านจะแยกระหว่างผู้รู้และผู้ไม่รู้ออกเป็นตัวบุคคลสองบุคคลไม่เกี่ยวข้องกัน
ซึ่งแท้ที่จริงแล้วทั้งผู้รู้และผู้ไม่รู้มันคือคนๆเดียวกันและนั่นก็หมายถึงตัวคุณเองด้วย
สังเกตไหมจิตของคุณเดี๋ยวมันก็เป็นผู้รู้เดี๋ยวมันก็เป็นผู้ไม่รู้(ผู้หลง)เมื่อไหร่ที่จิตของคุณมันเข้าไปรู้สภาวะตามความเป็นจริง
จิตที่ไม่รู้ก็หายไปและเช่นกันเมื่อไหร่จิตของคุณมันไม่รู้สภาวะตามความเป็นจริงจิตไม่รู้ก็เกิดขึ้นในทันที
งงไหม….เห็นไหมขณะนี้จิตของคุณเป็นจิตที่ไม่รู้แต่สักประเดี๋ยว
จากจิตผู้ไม่รู้ก็จะค่อยๆกลับกลายไปเป็นจิตผู้รู้
มีอยู่แค่นี้แหละจิตของผู้ปฏิบัติ
ส่วนจิตของผู้ไม่ปฏิบัติจะเป็นจิตที่ไม่รู้อะไรเลยเพราะหลงอยู่ตลอดเวลาไม่เคยสังเกตหรือไม่เคยพิจารณาเลย
แม้นผู้เขียนจะพยายามอธิบายอย่างไรก็ไม่เข้าใจเพราะใจมันถูกอวิชชาครอบงำจนมืดและบอดสนิทถึงแม้นจะหาทางมองให้ออกแต่มันก็ไม่สามารถทำได้
เพราะทุกอย่างมันต้องอาศัยระยะเวลาในการสะสมสภาวะเพื่อให้จิตมันเห็นสภาวะตามความเป็นจริง
แต่หากผู้อ่านเริ่มที่จะหันมามองจิตของตัวเองตั้งแต่วันนี้ไม่แน่ว่าจิตที่มืดบอดมันจะรู้สึกตื่นขึ้นมาบ้าง
อาการตื่นที่ว่านี้มันจะรู้สึกได้ถึงลักษณะของอาการยิบยับขึ้นมาตรงกลางอกหรือว่าใจนั่นเอง
อาการตื่นของจิตนั้นเมื่อเรารู้จักสังเกตดูจิตมันจะมีกำลังขึ้นมาและเริ่มที่จะอยู่กับปัจจุบันเป็นขณะๆและความเป็นขณะๆนี้หากมีการทำความรู้สึกอย่างต่อเนื่องต่อเนื่องนะไม่ใช่ตลอดเวลา
เราจะรู้ได้ถึงความเป็นปัจจุบันมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่ออยู่กับปัจจุบันมากขึ้นเรื่อยๆเราก็จะเห็นเลยว่าจิตมันมีความสุข
รู้ตื่น เบิกบาน
เพราะไม่มัวหลงอยู่กับอดีตที่ผ่านพ้นมาแล้วและไหลไปหาอนาคตที่ยังมาไม่ถึง และนี้แหละที่เรียกว่าการทำ
“วิปัสสนา” หละ
วิปัสสนาที่แท้จริงจะต้องพ้นการมีรูปแบบหรือพูดอีกแง่หนึ่งคือการอยู่เหนือรูปแบบใดๆขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง
รูปแบบเป็นเพียงพื้นเบื้องต้นเพื่อให้เราเดินไปข้างหน้าได้เท่านั้นเมื่อถึงเวลาอันสมควรก็จะต้องปล่อยแล้วก็เดินด้วยตัวของเราเองโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอะไร
แม้แต่ “ความคิด” ที่ใครๆก็มักจะใช้ในการพึ่งพาอาศัยและหลงคิดไปว่า
ถ้าไม่คิดแล้วปัญญามันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ผู้เขียนบอกได้เลยว่า “ปัญญาหรือสัมมาทิฐิ” ที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นได้เพราะจิตเข้าไปรู้สภาวะตามความเป็นจริงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
นอกจากนั้นไม่ใช่เลย อีกอย่างหนึ่ง
คุณจะเชื่อได้อย่างไรว่าสิ่งที่คุณคิดมันเป็นการ “คิดถูก” ไม่ใช่ “คิดผิด” เมื่อไหร่ที่คิดจิตก็จะพ้นจากวิปัสสนาแล้วกลายไปเป็น
“สมถะ” ทันที
เพราะวิปัสสนาที่แท้จริงจะต้องมีความ “รู้สึกตัว” ล้วนๆเท่านั้น
เอาหละ….เมื่อพูดถึงความคิดที่มีทั้งคิดถูกและคิดผิด
ผู้เขียนก็จะชี้ให้เห็นว่า “คิดถูก” มันเป็นเช่นไร และ “คิดผิด” มันเป็นเช่นไร…..
คิดถูกนั้น
ทุกอย่างที่จิตนำไปพิจารณาจะต้องพิจารณาตามความเป็นจริงจนจิตเกิดความเบื่อหน่าย
เมื่อเบื่อหน่ายแล้วก็คลายกำหนัด คลายความยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งๆนั่นอย่างเห็นได้ชัด
นั่นก็หมายถึงทุกอย่างที่จิตคิดจะต้องลงไตรลักษณ์หมดนั่นคือ อนิจจัง ทุกข์ขัง
อนัตตา ถ้าไม่เห็นไตรลักษณ์จิตจะไม่มีวันเกิดความเบื่อหน่ายเลย
เมื่อจิตเกิดความเบื่อหน่ายมากๆเข้าจิตจะเห็นเลยว่า “ในโลกนี้ไม่มีอะไรให้หลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นได้เลย” แล้วจิตก็จะหาทางออกของเขาเอง
และนั่นก็หมายถึง จิตเริ่มที่จะหาทางพ้นทุกข์ หาทางพ้นทุกข์นะไม่ใช่ “หาทางหนีทุกข์” ซึ่งสองคำนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
หาทางพ้นทุกข์หมายถึงว่า แม้น “สุข” มาจิตก็จะไม่เอาอีกแล้วคือไม่เอาทั้งสุขและไม่เอาทั้งทุกข์
คือต้องการพ้นอย่างเดียว ส่วนการ “หนีทุกข์” นั้น ไม่เอา “ทุกข์” นะแต่จะเอา “สุข” เมื่อทุกข์เกิดขึ้นมาจิตก็จะดิ้นรน
ทำอย่างไรที่จะให้จิตพ้นทุกข์ พ้นในที่นี้หมายถึง พ้นจากทุกข์ที่มีอยู่ในขณะนั้น
และเหตุนี้แหละจึงเป็นที่มาของหลายๆบุคคลที่หันหน้าเข้าวัด หันหน้าฟังธรรมและอีกหลายๆบุคคลที่เกิดอาการ
“ติดวัด” โดยมีความรู้สึกว่าอยู่วัดแล้วสบายใจ
ไม่วุ่นวาย ซึ่งมันก็ช่วยได้นะ
แต่ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้นเพราะความเป็นจริงแล้วชีวิตของคนเราจะต้องอยู่กับ “ความจริง” ความจริงคืออะไร….ความจริงคือทุกสิ่งมัน
“วุ่นวาย” เมื่อไม่รู้ความจริงว่ามันวุ่นวายจิตก็จะดิ้น
ดิ้นเพื่อให้พ้นจากสิ่งนี้ แล้วคุณคิดว่ามันจะพ้นได้ไหม
ไม่มีทางพ้นหรอกเพราะความจริงมันก็คือความจริง
ความจริงมันวุ่นวายมันก็ต้องวุ่นวายไปตามความเป็นจริง
แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทุกพระองค์ท่านก็ทรงยอมรับสิ่งนี้เพราะสิ่งนี้มันคือ
“ความจริง” ของธรรมชาติที่ถูกครอบงำด้วยความวุ่นวาย
เมื่อจิตยอมรับนั่นก็หมายถึงการยอมรับความจริง
ซึ่งจะแตกต่างจากจิตของผู้ปฏิบัติทั่วไป
จิตของนักปฏิบัติทั่วไปมันไม่ชอบความวุ่นวายมันจะเอาแต่ความสงบ
จิตมันก็เลยยิ่งเป็นทุกข์เมื่อออกมาใช้ชีวิตตามปกติ
และนี้ก็เป็นที่มาของอีกสาเหตุหนึ่งของการมีปัญหาครอบครัว
โดยธรรมดาการมีชีวิตครอบครัวก็มักจะมีปัญหาแต่เมื่อมีปัญหาแล้วแทนที่จะแก้ปัญหาตามความเป็นจริง
แต่กลับหนีปัญหา(ทุกข์)ไปอยู่กับความสงบ มองอีกแง่หนึ่งเหมือนเป็นการเห็นแก่ตัว…..เห็นแก่ตัวอย่างไร
เห็นแก่ตัวโดยการทิ้งปัญหาและความทุกข์ต่างๆไว้ให้กับผู้ที่ยังคงอยู่ให้เผชิญกับปัญหา
ช่างเป็นเรื่องที่น่าสงสารนัก…..
พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ “รู้ทุกข์” ไม่ใช่ “หนีทุกข์” เพราะการหนีทุกข์ไม่ใช่วิธีที่แก้ปัญหาด้วยปัญญา
ปัญญาเกิดจากการเข้าไปรู้ตามความเป็นจริง ส่วนการหนีทุกข์นั้นคือการไม่ต้องการรู้อะไรเลยอยากจะให้มันพ้นไปเพียงอย่างเดียว
คุณจะรู้ไหมว่าแม้นว่าคุณต้องการจะพ้นหรือไม่พ้นทุกอย่างก็ต้อง “ผ่านไป” ผ่านไปตามกฎของไตรลักษณ์
แต่กิเลสมันหลอกให้จิตของคุณ “ดิ้น” ดิ้นเพื่ออะไร
ดิ้นเพื่อให้จิตของคุณเป็นทุกข์ ยิ่งทุกข์เท่าไหร่ก็ยิ่ง “สะใจ” มันเท่านั้น
ปุถุชนคนทั้งหลายจึงอยู่ภายใต้กิเลสที่มันหลอกล่อใจอยู่ตลอดเวลานาที………
ลากมาซะไกลเลยเห็นไหม
เห็นใจที่ไหลไปตามเนื้อหาของผู้เขียนไหม ในขณะที่อ่านรู้สึกไหมว่า “จิตมันไหลไปตามเนื้อหาที่ผู้เขียนได้เขียนเอาไว้” แต่พอผู้เขียนตัดบทมาอีกเรื่องหนึ่งจิตของผู้อ่านก็ตัดมาที่ความรู้สึกตัว
แต่รู้สึกได้เพียงแวบเดียวเดี๋ยวมันก็ไปอีกแล้ว ไปไหน….ไปหาความคิด
ไปหาจิตปรุงแต่ง แต่งเรื่องโน้นบ้าง แต่งเรื่องนี้บ้าง
สุดแล้วแต่ว่าขณะนั้นจิตของผู้อ่านเป็นเช่นไร
หากจิตเป็นสุขความคิดก็จะไหลไปหาความสุข หากจิตเป็นทุกข์อยู่จิตก็จะไหลไปหาความทุกข์
หรือแม้แต่จิตของคุณมันไม่ได้ไหลไปไหนเลยเหมือนจิตมันอยู่นิ่งๆ นั่นก็ยังไม่ใช่
จิตของคุณก็ยังเป็นผู้หลงอยู่นั่นเอง
และไม่ว่าจิตของคุณเป็นแบบไหนก็ล้วนแล้วแต่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของ “อวิชชา” ทั้งสิ้น
เมื่อจิตถูกอวิชชาครอบงำเสียแล้วๆจะเอา “สติที่แท้จริง” มาจากที่ไหน…..
อย่าพึ่งท้อนะ
เพราะความท้อถอยมันไม่สามารถจะให้คุณพ้นทุกข์ไปได้เพราะฉะนั้นอย่าไปกลัวมันสิ่งใดเกิดขึ้นมาในขณะจิตขอให้สักแต่ว่ารู้เท่านั้นก็พอ
เพราะนั่นหมายถึงว่าคุณได้ปิดประตูแห่งความสงสัยไปได้บ้างแล้วไม่มากก็น้อย
กลับมาที่การ “คิดผิด” การคิดผิดนั้นเป็นการคิดที่
“ส่งจิตออกนอก” เพ้อฝันและเพ้อเจ่อ
และรวมไปถึงความ “ฟุ้งซ่าน” ของจิตด้วย เพ้อฝัน
เพ้อเจ่อ ฟุ้งซ่าน เป็นลักษณะอาการของจิตที่ฟุ้งต่อความคิด คิดอยู่นั่นแหละ
จิตมันไม่วางซะทีและบางครั้งเหมือนมันวางนะ แต่พอไม่นานจิตมันก็หยิบขึ้นมาคิดอีกใจของคุณจะรู้สึกได้ด้วยปัญญาว่ามันไม่ได้วางจริง
แต่ดูเหมือนมันวาง แต่วางชนิดนี้มันจะวางแบบขาด ปัญญา มันจะรู้สึกทื่อๆ
และก็เดินปัญญาต่อไม่ได้และเหมือนกับย่ำอยู่กับที่
ซึ่งหลายๆคนเมื่อถึงจุดนี้จะใช้การกดข่มเข้าช่วย การกดข่มในที่ในก็คือการใช้ “ความคิด” เข้าช่วยนั่นเอง
ก็อย่างที่บอกแหละเมื่อไหร่ที่คิดจิตก็จะตกจาก “วิปัสสนา” แล้วกลายไปเป็น “สมถะ” ทันที
เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นเรื่องค่อนข้างยากสำหรับ “นักคิด” ทั้งหลาย
ยิ่งคิดก็ยิ่งห่างไกลจากมรรคผลนิพพาน เพราะมรรคผลนิพพานเป็นเรื่องของการยอมรับความจริงที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า
ไม่ใช่เป็นเรื่องของความคิด(จิตปรุงแต่ง)
วิธีแก้ก็คือ “ยอมรับความจริงซะ” มันเจริญก็รู้ว่ามันเจริญ
มันจะเสื่อมก็รู้ว่ามันเสื่อม ไม่ต้องไปต้านและก็ไม่ต้องยอมรับด้วยความท้อแท้
แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงเท่านั้น เพราะทั้งเจริญและเสื่อมมันเป็น “สิ่งคู่” ที่ทุกคนต้องยอมรับให้ได้
อย่าพยายามเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
เพราะมันเอาไม่ได้เมื่อไหร่ที่เอาสิ่งหนึ่งสิ่งหนึ่งก็ต้องติดขึ้นมาด้วย
เพราะฉะนั้นต้องเอาทั้งสองสิ่งและเมื่อจะทิ้งก็ต้องทิ้งทั้งสองสิ่งเช่นกัน
จิตจึงจะถึงพร้อมด้วยปัญญา
ภวังคจิต
ภวังคจิตหรือบางคนอาจจะรู้จักในนามของจิตใต้สำนึก ภวังคจิตนี้สำคัญมาก
เพราะสิ่งนี้เป็นเพียงสิ่งเดียวที่การเวียนว่ายตายเกิดหรือปฏิจจสมุปบาทกงล้อของวัฏสงสารได้ก่อกำเนิดเกิดขึ้น
มันคือดวงจิตที่เต็มไปด้วยกิเลส-ตัณหา-อุปทาน หรือพูดโดยรวมมันคือดวงจิตของอวิชชาก็ว่าได้
ถึงแม้นกายภายนอกจะถูกทำลายจนนับภพนับชาติไม่ได้ก็ตามก็ไม่ได้มีความหมายต่อภวังคจิตนี้เลยแม้แต่น้อย
มันก็ยังคงต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไปเช่นเดิม
หรือพูดง่ายๆว่ามันคือกองบัญชาการที่แท้จริงของสิ่งมีชีวิตทั่งปวงนั่นเอง
มองเท่าไหร่ก็คงจะมองไม่ออกถึงภวังคจิตดวงนี้
สำหรับปุถุชนแล้วคงจะเป็นการยากที่จะมองและเห็นสิ่งนี้เพราะมองทุกทีๆก็เห็นแต่ “ตัวตนและของตน” อยู่ร่ำไป…….
การกระทำของมนุษย์และสัตว์ทุกผู้ทุกนามไม่ว่าจะเป็นทางกาย
วาจา ใจ ก็ล้วนแล้วแต่ถูกบันทึกเอาไว้ในภวังคจิตหรือจิตใต้สำนึกทั้งสิ้น
มันไม่ได้สูญสลายหายไปไหนเลยแม้แต่น้อย
มันมีแต่จะพอกพูนขึ้นเรื่อยๆตามกำลังของกิเลส-ตัณหา-อุปทาน
ดั่งที่เราๆท่านได้เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ของพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายที่นับวันมันมีแต่จะเพิ่มความรุนแรง
โหดร้ายและเลวทรามเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆอย่างหาประมาณไม่ได้ นั่นก็เพราะเป็นผลสืบเนื่องมาจากจิตที่ความจริงมันควรจะได้รับการซักฟอกให้ขาวสะอาดแต่ตรงกันข้ามแทนที่จะเพิ่มความขาวสะอาดแต่กลับไปพอกพูนความสกปรกให้กับจิต
จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่านับจากวันนี้ต่อไปจนถึงภายภาคหน้ามนุษย์และสัตว์ทั้งหลายจะอยู่กันอย่างไรและต้องเผชิญกับอะไรบ้างในวันข้างหน้า
น่ากลัวนะ….กับสิ่งที่เรามองไม่เห็นแต่รู้แน่ๆว่ามันจะต้องเกิดขึ้นแน่และสิ่งที่เกิดขึ้นมันก็เป็นสิ่งที่โหดร้ายและน่ากลัวเป็นอย่างหาประมาณมิได้….
รีบเอาตัวรอดเถิด….เอาตัวรอดในที่นี่ไม่ใช่ต้องวิ่งหนีไปให้สุดกู่หรือเข้าป่าไปเลยนะ
เพราะนั่นมันเป็นเรื่องของทางกายเท่านั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับทางจิตเลย
เอาตัวรอดในที่นี่ก็คือ “การหันหน้าศึกษาธรรม” ซักฟอกจิตใจตัวเองให้สะอาด
บริสุทธิ์
เพราะนี่คือหนทางรอดเพียงหนทางเดียวเท่านั้นของมนุษย์และสัตว์ที่ยังคงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏนี้
“จิตภาวนา” การพินิจพิจารณาดูจิตของตัวเองให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ
ถึงแม้นจะไม่รอดพ้นจากวิบากกรรมโดยสิ้นเชิง แต่นั่นก็หมายถึง แดนเกิดที่ไม่ใช่ “อบายภูมิ” ที่เป็นแดนของสัตว์นรกและภูตผีปีศาจทั้งหลายสิ่งสถิตเพื่อชดใช้กรรมอยู่
…..
การเกิด…..การตายเป็นสิ่งคู่ที่น่าเบื่อที่สุด
จงถอดถอนสิ่งนี้ออกมาเถิด การไม่เกิด การไม่ตาย
เป็นสิ่งที่มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายควรทำให้แจ้ง
เมื่อแจ้งแล้วความเห็นผิดของมนุษย์และสัตว์นั้นๆจะถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิงและจะเป็นสิ่งที่มนุษย์และสัตว์พึงรู้ได้เฉพาะตนเลยว่า
ตนได้หลงเข้าไปอยู่ในที่ๆไม่ควรอยู่นั่นได้อย่างไรกัน
มันช่างเป็นสถานที่ๆมืดบอดและดำสนิทหาความรื่นเริงบันเทิงใจไม่ได้เลยแม้แต่น้อยนิด
เมื่อประจักษ์แจ้งแก่จิตตัวเองแล้วก็ไม่รอช้าที่จะบอกมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายที่ยังหลงมัวเมาอยู่กับความมืดนั้นให้มารู้จักกับแสงสว่างที่แท้จริง…..สะอาด สว่าง สงบ
เฉกเช่นดั่งแสงอาทิตย์ที่ไม่มีวันที่จะมืดได้อีก
ภาพแห่งมายา
มีผู้รู้ท่านหนึ่งเคยกล่าวเอาไว้ว่า
โลกนี้คือโรงละครโรงใหญ่ ในขณะนั้นผู้เขียนฟังแล้วก็ยังรู้สึกเฉยๆ
อาจเป็นเพราะผู้เขียนยังไม่เห็นถึงความสำคัญว่าเหตุใดผู้รู้ท่านนี้ถึงได้กล่าวอะไรเช่นนี้
เพราะสิ่งที่ผู้เขียนเห็นอยู่ในขณะนี้มันคือ
โลกที่หลอมรวมและครอบทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้อย่างกับเป็นเนื้อเดียวกัน
ปัญญาของผู้เขียนไม่สามารถจะเข้าไปรู้ในสิ่งที่ผู้รู้ต้องการจะให้เห็นตามความเป็นจริงได้เลย
และอาจจะพูดได้ว่าขณะนั้นปัญญาของผู้เขียนยังมีน้อยนัก
จึงได้แต่ความเข้าใจไม่สามารถเข้าถึงซึ่งสัจธรรมอันสูงสุดอันนี้ได้
แต่พอผู้เขียนปฏิบัติธรรมไปเรื่อยๆอย่างไม่ท้อถอยและเวลาก็ผ่านไป ผ่านไป
สัจธรรมหรือความจริงก็เริ่มจะปรากฏให้เห็นทีละสิ่งทีละอย่าง
จนวันหนึ่งความจริงหรือสัจธรรมอันสูงสุดนี้มันก็แจ้งครอบโลกครอบจักรวาลหาที่สุดหาประมาณไม่ได้
โลกนี้คือละคร โลกนี้คือมายา โลกนี้คือภาพลวงตา มันก็กระจ่างชัดขึ้น ชัดขึ้น
และชัดขึ้น จนวันนี้จิตของผู้เขียนมันก็ได้แจ้งแล้วว่า
ผู้รู้ท่านนั้นท่านไม่ได้กล่าวเกินจริงเลยแม้แต่น้อย
ทุกอย่างมันไม่ได้มีอยู่จริง
ทุกอย่างที่เราเห็นกันนั้นเป็นภาพลวงตาทั้งสิ้น หากใครสามารถเห็นความจริงข้อนี้ได้
ผู้เขียนสามารถบอกได้เลยความ ความทุกข์ ที่ใครๆต่างก็ไม่ต้องการ
จะไม่มีวันเกิดขึ้นอีกเลยชั่วชีวิตนี้ ทำไมผู้เขียนถึงได้กล่าวเช่นนี้
ผู้อ่านลองสังเกตให้ดีนะว่า ความทุกข์ของเราทุกวันนี้มันเกิดจากอะไร
มันเกิดจากสิ่งภ ายนอกทั้งสิ้นใช่ไหม
สิ่งภายนอกที่เข้ามากระทบสิ่งภายในที่เรียกว่า ใจ แล้วใจอันนี้แหละมันรู้ไม่เท่าทันต่อสิ่งภายนอก
เมื่อไม่รู้เท่าทันเสียอย่างเดียวแล้ว ความทุกข์ของใจมันก็เกิดขึ้น
เกิดขึ้นเพราะไปยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งภายนอกที่เข้ามากระทบสิ่งภายในที่เรียกว่า ใจ
หากวันใดที่ผู้อ่านแจ้งต่อสิ่งภายนอกและเลิกยึดมั่นต่อสิ่งภายนอก ใจ
ก็จะเป็นอิสระจากสิ่งร้อยรัดทั้งปวง
ภาพต่างๆที่ปรากฏมันก็จะพลอยไม่มีความหมายใดๆไปด้วย
ไม่ว่าภาพนั้นจะเป็นภาพที่ยั่วยุจิตของผู้อ่านให้รู้สึกสุข-ทุกข์สักแค่ไหนก็ไร้ผล
เพราะทุกอย่างได้กลายเป็นเมฆหมอกไปเสียแล้ว
มันเป็นการยากนะที่จะชี้ให้เห็นถึงสัจธรรมข้อนี้
ต่อให้มันปรากฏอยู่เบื้องหน้าแล้วก็ตามก็ไม่สามารถจะชี้ให้เห็นด้วยตาเนื้อได้
เพราะสัจธรรมอันสูงสุดนี้มันเป็นส่วนของนามธรรมที่ไม่สามารถจับต้องได้
แต่สามารถเข้าถึงได้ด้วย จิต ที่เป็น อิสระ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
และก็มีเพียงบุคคลจำนวนไม่มากนักที่สามารถเห็นถึงสัจธรรมความจริงข้อนี้ได้ ทำไมเขาเหล่านั้นถึงสามารถเห็นได้
ไม่ใช่เขาเป็นผู้วิเศษหรืออะไรหรอกนะ
เขาก็เป็นเช่นคนธรรมดาๆอย่างเช่นพวกเราทุกคนนี้แหละ
แต่ที่เขาเห็นได้เพราะเขาเหล่านั้นเป็นผู้ที่ไม่ท้อถอยต่อ กิเลส-ตัณหา
ที่ต่างก็แห่กันมายั่วยุใจกันเป็นกองทัพ แต่เขาเหล่านั้นต่างมีจิตใจที่เข้มแข็ง
บากบั่น
และพากเพียรพยายามแหวกข้ามขวากหนามแห่งห้วงมหานทีแห่งกิเลส-ตัณหาออกมาได้จนสำเร็จด้วยตัวของเขาเอง
หาได้มีสิ่งใดมาช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่เหล่านี้ไม่แม้แต่น้อย
ต่างคนก็ต่างมีตนเป็นที่พึ่งแห่งตนโดยถ่ายเดียว เพราะเส้นทางนี้เป็นเส้นทางของผู้มาคนเดียวและไปคนเดียว
จนถึงที่สุดแห่งการพากเพียรก็ได้พบสัจธรรมอันยิ่งใหญ่เป็น ธรรมชาติ
ที่หาที่สุดมิได้ และนี่ก็คือผลแห่งการพากเพียรพยายาม มันคือผลแห่งการบากบั่น
มันคือผลแห่งการไม่ยอมแพ้ อมฤตธรรม
อันหอมหวานได้กลายมาเป็นบทสรุปของทุกสิ่งและทุกอย่างสำหรับผู้ปฏิบัติทุกท่านที่ไม่เคยรู้จักกับคำว่า
พ่ายแพ้
ทวนกระแส
ทวนกระแสที่ว่านี้นั้นหมายถึง
การทวนกระแสแห่งกิเลสตัณหา
ซึ่งกิเลสตัณหาที่ว่านั้นไม่ได้หมายถึงแค่ว่ากิเลสตัณหาที่เกิดจากผัสสะเท่านั้น
แต่มันยังหมายถึง ความคิดที่เปรียบเสมือนกองบัญชาการของการกระทำทุกอย่าง
และกองบัญชาการที่ว่านี้หากมันปรากฏในรูปของรูปธรรมมันก็คงไม่เป็นการยากที่จะทำลาย
แต่นี่ไม่ใช่….เพราะนี่คือกองบัญชาการที่เกิดจากความคิดของพวกเราเอง
พวกเราเป็นผู้สร้างทุกอย่างขึ้นมาแล้วพวกเราก็ไม่สามารถจะทำลายทุกอย่างออกมาได้
หลายคนที่พยายามทวนกระแสออกมาแต่มันก็ยังไม่ทานต่อกระแสแห่งความคิดที่พยายามฉุดดึงให้พวกเราทุกคนจมปลักอยู่กับความคิดที่มันวกไปวนมาหาทางออกไม่ได้
และสุดท้ายพวกเราก็เชื่อในสิ่งที่ความคิดมันสร้างขึ้น
และก็เกาะติดอยู่กับความคิดนั้นจนสุดท้ายก็ต้องพ่ายแพ้ต่อแรงแห่งกิเลส-ตัณหาจนได้….
ความคิด….จริงๆแล้วมันช่างร้ายนัก
มันพยายามหลอกล่อเจ้าของทุกวิถีทางว่า ความคิดทั้งหลายทั้งปวงมันเป็นเราที่คิด
มองทุกทีก็เป็นเราทุกที แต่แท้ที่จริงแล้วความคิดมันไม่ใช่เราเลย
ความคิดมันเป็นความหลง มันเป็นตัวอวิชชา มันเป็นสังขาร มันเป็นเจตสิก
ที่ผนวกบวกกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วก็มาหลอกล่อดวงจิตของเรา
ให้เราหลงคิดว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นของเราและมีเราเป็นเจ้าของ
หากมีสัมมาทิฐิก็จะเห็นความจริงข้อนี้อย่างถ่องแท้ จะเห็นเลยว่า
สิ่งต่างๆล้วนเป็นเพียงสภาวะที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลาและสภาวะที่ว่านี้ก็ได้หมายรวมไปถึงความคิดที่ผลฐานของมันคือความรู้สึกด้วยเช่นกัน
ความคิดที่ชอบใจและไม่ชอบใจผลของสิ่งนี้ก็คือ ความรู้สึกที่ชอบใจและไม่ชอบใจ
ผู้ปฏิบัติหลายๆท่านมักจะยึดเอาสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจนี้แหละเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิต
สิ่งที่ฉันชอบใจฉันจะนำสิ่งนั้นมาเป็นแนวทางการปฏิบัติส่วนสิ่งที่ฉันไม่ชอบใจนั้นฉันจะไม่เอาและก็จะไม่สนใจด้วย
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายนัก
เพราะการปฏิบัติของเขาล้วนมีแต่สิ่งที่เขาชอบใจทั้งสิ้น บอกได้คำเดียวว่า
กิเลสล้วนๆเลย สุดโต่งอยู่ด้านเดียว ตาช่างไม่เท่ากัน
แล้วจะหาความเป็นกลางมาจากที่ไหน เมื่อหาความเป็นกลางไม่ได้เสียอย่างเดียวแล้ว
อริยมรรคมีองค์แปด จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เพราะอริยมรรคมีองค์แปดซึ่งประกอบไปด้วย
สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบเป็นเบื้องต้น และมีสัมมาสมาธิเป็นเบื้องปลาย
เมื่อไหร่ที่เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริงไม่ได้เสียอย่างเดียว อริยมรรคทั้งเจ็ดข้อที่เหลือจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
เพราะสัมมาทิฐิเปรียบเสมือนต้นเหตุของทุกอย่างเมื่อไหร่ที่สร้างเหตุถูกต้อง
ผลของมันก็จะปรากฏให้ผู้ปฏิบัติได้แจ้งแก่จิตของผู้ปฏิบัตินั่นเอง
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าและพระอริยะสาวกทุกพระองค์จึงพร่ำสอนไม่ให้สุดโต่ง
ไปด้านใดด้านหนึ่ง เพราะท่านทรงรู้ว่าการที่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียวนั่นหมายถึงเส้นทางที่ห่างไกลความเป็นจริงที่ทุกท่านปรารถนาจะให้ผู้ปฏิบัติทุกคนได้เห็นได้ประจักษ์
ทุกท่านจึงพยายามพร่ำสอนว่า ให้อยู่เหนือเหตุและผล ให้อยู่เหนือสุขและทุกข์
ให้อยู่เหนือบาปและบุญ ให้อยู่เหนือสิ่งผิดและสิ่งถูก
ให้อยู่เหนือสิ่งดีและสิ่งชั่วเพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น สิ่งคู่ หรือ ธรรมคู่
ที่อยู่คู่กับโลกโลกีย์ธรรมมาเป็นเวลาช้านานทั้งสิ้น
แต่เราผู้ปฏิบัติต้องการปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นจากโลกโลกีย์ธรรมนี้ไปสู่โลกโลกุตระธรรม
ซึ่งเป็นดินแดนแห่งการพ้นทุกข์ เป็นดินแดนแห่งพุทธะ เป็นดินแดนแห่งผู้รู้ ผู้ตื่น
ผู้เบิกบาน เป็นดินแดนแห่งมรรคผลนิพพานโดยแท้
แต่เราจะไม่สามารถเห็นสิ่งที่กล่าวมานี้ได้เลยหากเรายังพยายามจะแยกสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็น
ธรรมคู่ ออกจากกันโดยจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ โดยจะรู้หรือไม่รู้ก็ตามก็ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคต่อการเจริญมรรคผลนิพพานซึ่งมีอริยมรรคมีองค์แปดเป็นเสมือนเส้นทางเดินทั้งสิ้น
เมื่อเห็นได้เช่นนี้
การปฏิบัติของนักปฏิบัติก็คงจะง่ายขึ้นและมีกำลังใจมากขึ้น อย่างน้อย
นี่ก็ถือว่าเป็นอีกองค์ความรู้หนึ่งที่นักปฏิบัติจะต้องเข้าไปศึกษาและเรียนรู้เพื่อจะได้เป็นหนทางในการปฏิบัติเพื่อไปสู่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ต่อไปในอนาคต…
ความโลภ ความโกรธ ความหลง
กิเลส 3 ตัวนี้
ผู้เขียนคิดว่า มนุษย์ทุกคนย่อมจะรู้จักมันดีและก็ไม่มีใครที่จะปฏิเสธเจ้ากิเลส 3
ตัวนี้ได้แต่ถึงแม้นจะปฏิเสธหรือยอมรับมัน มันก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย
เพราะความจริงมนุษย์มิได้มีอำนาจในการกำหนดมันว่าจะให้มันอยู่หรือจะให้มันไป
แต่ตรงกันข้ามมันกลับเป็นฝ่ายกำหนดมนุษย์เสียเอง
และอำนาจในการสั่งการของมันก็ช่างมากมายมหาศาลเกินกว่าที่มนุษย์จะต้านทานมันได้
น่ากลัวนะ น่ากลัวมาก ยิ่งเมื่อไหร่ที่มันได้มีโอกาสแสดงอำนาจมันก็จะแสดงอย่างไม่เกรงกลัวใคร
และหน้าไหนทั้งนั้น ไม่ว่ามนุษย์ผู้นั้นจะมีอำนาจบาตรใหญ่
จะมีทรัพย์สินเงินทองและรวยล้นฟ้า
หรือแม้กระทั้งมนุษย์ผู้นั้นจะมีลาภยศสูงส่งขนาดไหน
ก็ยังต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจสั่งการของมันทั้งสิ้น เมื่อมันได้ในสิ่งที่มันต้องการแล้วมันก็ไป
แต่ก่อนที่มันจะไปมันก็ได้ทิ้งเศษเสี้ยวของความสุขเล็กๆน้อยๆเอาไว้ให้มนุษย์ได้ชื่นชม
และความสุข
เล็กๆน้อยๆที่ว่านี้ก็ใช่ว่าจะเป็นของเราอย่างแท้จริงก็หาไม่เพราะมันจะอยู่กับเราเพียงแค่ประเดี๋ยวประด๋าวเดี๋ยวมันก็ต้องไปเช่นกัน
แล้วทุกอย่างก็จบลง แต่จบในที่นี้มิใช่จบแบบสิ้นเชื้อนะ
แต่มันเป็นการจบเพื่อที่จะเริ่มใหม่ เริ่มใหม่ของอะไร ก็เริ่มใหม่ของกิเลสตัณหา
เริ่มใหม่ของความอยาก-ความไม่อยาก จิตของมนุษย์ดิ้นรนขวนขวายอยู่ตลอดเวลานาที
ไม่เคยมีเวลาที่เป็นตัวของตัวเองเลย แม้กระทั้งเวลาที่จิตมันเฉยๆ
อย่าคิดนะว่าจิตที่ยังมีกิเลสครอบงำมันจะไม่ขวนขวาย ลองสังเกตจิตของคุณเองดูก็ได้
รู้สึกไหมว่า เวลาที่จิตมันต้องการหรือไม่ต้องการอะไรสักอย่างหนึ่ง จิตมันจะดิ้นๆๆ
ดิ้นไปหาอะไร ก็ดิ้นไปหาผัสสะที่ชอบใจเพราะจิตที่หลงผิดคิดว่า
เมื่อได้ในสิ่งที่ชอบใจแล้วเราจะได้มาซึ่งความสุข
มนุษย์ทุกผู้ทุกนามจึงยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขและพยายามทำทุกอย่างเพื่อที่จะหนีทุกข์
หารู้ไม่ว่าๆมนุษย์จะกระทำการสิ่งใดๆก็ตามล้วนตกอยู่ภายใต้อำนาจของความร้ายกาจของกิเลสทั้งสามตัวนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่เราก็จะโทษกิเลสแต่เพียงอย่างเดียวย่อมไม่เป็นการถูกต้องนัก
ความจริงแล้วกิเลสทั้งสามตัวนี้แทบจะไม่มีพิษสงใดๆเลย หากไม่มีเจ้าตัว ตัณหา
คือความอยากและความไม่อยาก เป็นตัว ผลักดัน
ให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นได้ก็เพราะ
แรงแห่งตัณหา นั่นเองมิใช่ด้วยเหตุผลอื่นใดเลย
แต่มนุษย์กลับมองไม่เห็นหรือมองข้ามสิ่งนี้ไปอย่างน่าแปลกใจ
เมื่อไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งนี้เสียอย่างเดียวแล้ว
แล้วเราจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไรถึงจะไม่ตกเป็นทาสของกิเลส-ตัณหาเหมือนอย่างเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ปัจจุบันที่มนุษย์ล้วนถูกสิ่งนี้ครอบงำอยู่ทุกเวลานาที
พระพุทธเจ้าท่านทรงเมตตาได้บอกกล่าวเกี่ยวกับ
อริยสัจสี่ ขึ้นมา
เพื่อให้มนุษย์ได้พิจารณาถึงความจริงของเหตุและผลแห่งความทุกข์ที่มนุษย์กำลังเผชิญอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ท่านทรงกล่าวถึงสิ่งนี้เอาไว้ว่า
ทุกข์ การมีอยู่แห่งทุกข์
สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์
นิโรธ การดับทุกข์
มรรค
ข้อปฏิบัติให้ถึงการดับทุกข์
ความจริงสี่ข้อนี้ได้ถูกบัญญัติเอาไว้ในพระไตรปิฎกให้มนุษย์ผู้สนใจใฝ่ธรรมได้นำไปศึกษาพิจารณา
และถ้าหากพิจารณาในส่วนของปริยัติจะเห็นว่า
พระพุทธเจ้าท่านได้นำทุกข์ขึ้นก่อนเป็นอันดับแรก เพราะมันเป็นสิ่งที่ได้
เกิดขึ้นแล้ว ถึงแม้มนุษย์ไม่อยากให้เกิดมันก็เกิด เพราะฉะนั้น ทุกข์ ตัวนี้จึงได้
กลายมาเป็นความจริงตัวแรกในบรรดาทุกข์ทั้งสี่
และมนุษย์ก็ให้ความสำคัญกับเจ้าตัวทุกข์ตัวนี้เป็นอย่างมาก
มนุษย์จึงพยายามที่จะดับทุกข์กัน โดยที่ไม่เห็นความสำคัญและให้ความสนใจกับ สมุทัย
ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง ว่ามันเกิดมาจากอะไร
และอะไรเป็นสาเหตุแห่งการเกิด แต่มนุษย์กลับมาให้ความสำคัญกับ นิโรธ
พระเอกอีกตัวหนึ่งที่ใครๆก็อยากจะครอบครองเป็นเจ้าของ
โดยขาดความขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งนี้ มรรค
ข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงซึ่ง นิโรธ ก็เป็นความจริงอีกข้อหนึ่งที่มนุษย์ยังขาดความเข้าใจอยู่มาก
และคิดว่า มรรค ซึ่งเป็นหนทางแห่งการปฏิบัติ
มนุษย์อย่างเราจะปฏิบัติอย่างไรถึงจะเป็นการถูกต้อง
เมื่อมนุษย์ขาดความรู้ความเข้าใจใน อริยสัจสี่ เสียแล้ว
จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่า
ทำไมมนุษย์ที่พยายามที่จะหาทางพ้นทุกข์ถึงยังต้องเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารนี้ต่อไปไม่รู้จักจบจักสิ้น
แต่หากพิจารณาความจริงของข้อ สมุทัย สักนิดก็จะเห็นเลยว่า
สมุทัยกลับเป็นต้นเหตุของทุกสิ่งทุกอย่างและทุกสิ่งทุกอย่างที่ว่านี้แหละคือ ทุกข์
หละ ผู้ปฏิบัติหลายๆท่านต่างคิดว่าเข้าใจในอริยสัจ แต่เวลาที่จะปฏิบัติขึ้นมาจริงๆกลับไปดับตัวที่เรียกว่า
กิเลส แทน อันได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง
ซึ่งเป็นธรรมชาติอีกตัวที่ใครก็ไม่สามารถดับมันได้ มนุษย์ทั้งหลายจึง ดับผิดตัว
ตัวจริงๆแท้ๆ จะต้องเป็นตัว ตัณหา หรือ ความอยากหรือตัวสมุทัย
เพียงอย่างเดียวเท่านั้นอย่างอื่นไม่ใช่….
ทำไมผู้เขียนถึงได้มั่นใจในข้อธรรมข้อนี้นัก…….เพราะผู้เขียนเคย
หลงผิด มาแล้ว ผู้เขียนเคยพยายามที่จะดับเจ้าตัวที่เรียกว่า ความโลภ ความโกรธ
ความหลง ปรากฏว่าดับอย่างไรมันก็ดับไม่ได้
แต่ที่เห็นว่าดับได้ก็เป็นเพราะกำลังของสมาธิในระดับองค์ฌานเท่านั้น
แต่เมื่อกำลังขององค์ฌานเสื่อมลงไปทุกอย่างก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม
แต่ด้วยความไม่ท้อถอยของผู้เขียนที่จะปฏิบัติต่อไปและก็ได้เห็นซึ่งสัจธรรมข้อนี้แล้ว
คราวนี้ผู้เขียนจึงเปลี่ยนรูปแบบในการปฏิบัติใหม่จากเดิมที่พยายามดับกิเลสเปลี่ยนเป็นยอมรับกิเลส
ยอมรับนะไม่ใช่ยอมแพ้ แล้ววันหนึ่ง จากผลแห่งการพากเพียรผู้เขียนก็สามารถดับตัณหาซึ่งเป็นสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ได้สำเร็จ
ผลปรากฏว่า ทุกข์
ที่ใครๆพยายามที่จะทำให้สิ้นก็ได้ปรากฏขึ้นแก่จิตดวงนี้ของผู้เขียนเอง
สิ้นจริงๆนะสิ้นแบบ ไม่เหลือเชื้อ พอที่จะให้เกิดทุกข์ขึ้นได้อีกเลยในสังสารวัฏนี้
ไม่น่าเชื่อนะ….ผลจากการปฏิบัติ
ทุกข์ดับเพราะตัณหาดับ ไม่ใช่ทุกข์ดับเพราะกิเลสดับ
ผู้เขียนจึงแจ่มแจ้งในคำสอนของพระพุทธเจ้าในทันทีเลยว่า ทำไม….พระพุทธองค์ถึงได้สอนให้ดับ
ตัณหาหรือสมุทัย เพราะมันคือเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง แทนที่จะสอนให้ดับกิเลส
ไม่เพียงแต่เท่านี้นะ จากผลของการดับตัณหา
ความจริงอีกข้อหนึ่งก็ได้กระจ่างแจ้งขึ้นมาว่า
ไม่ใช่แค่เพียงตัณหาดับอย่างเดียวแต่ได้นำพา อุปทาน ตัวยึดมั่นให้ดับพร้อมลงไปด้วย
และถึงแม้นอวิชชามันจะยังไม่ดับแต่ฤทธิ์ของมันก็เริ่มจะเบาบางลงเรื่อยๆ
ด้วยอำนาจแห่งปัญญาของจิตที่เข้มแข็ง จนเมื่อถึงวันที่จิตเข้มแข็งเต็มที่จิตดวงนี้ก็สามารถทำลายอวิชชาซึ่งเปรียบเสมือน
พญามาร ออกมาสู่ความเป็นอิสระได้สำเร็จ
และทั้งหมดนี้แหละเป็นบทพิสูจน์ความจริงของ
อริยสัจสี่ ที่พระพุทธองค์ท่านทรงบัญญัติไว้ ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ
ผู้เขียนแจ้งในอริยสัจสี่ในทันทีเลยว่า ทำไม….พระพุทธองค์ท่านถึงทรงบัญญัติ
ตัวทุกข์ เอาไว้เป็นธรรมอันดับแรกเพราะจากการปฏิบัติท่านทรงเห็นแล้วว่า
ทุกข์เป็นผล สมุทัยเป็นเหตุ เมื่อไหร่ที่ทำเหตุดับ ผลจะมีมาจากที่ไหน
ซึ่งธรรมข้อนี้ผู้เขียนได้พิสูจน์ด้วยตัวของผู้เขียนเองแล้ว
ทุกข์ของผู้เขียนได้เกิดขึ้นเพราะความอยาก(ได้ลูก)
และทุกข์ของผู้เขียนก็ได้ดับลงไปเพราะความสมอยาก(ได้ลูก)
และเป็นความอยากและความสมอยากครั้งสุดท้ายในชีวิตของผู้เขียน
ทำไมผู้เขียนถึงได้กล่าวเช่นนี้
เพราะความอยากของผู้เขียนมันได้กลายไปเป็นต้นเหตุซึ่งนำพาไปสู่การดับที่เรียกว่าตัวสมุทัยไปเสียแล้ว
เมื่อสมุทัยคือตัณหาคือความอยากได้ดับลงไป ทุกอย่างก็จบสิ้นลง จบแบบจบจริงๆ
ขณะนี้จิตของผู้เขียนอยู่ด้วยความไม่อยาก
ไม่อยากอะไรเลยไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความอยากที่เกิดจากอายตนะอันได้แก่ ตา หู จมูก
ลิ้น กายและแม้กระทั้งใจ จิตเป็นอิสระ จากสิ่งร้อยรัดใดๆทั้งสิ้นและสิ่งที่น่ามหัศจรรย์ที่สุดคือ
มันเป็นของมันเอง ไม่มีการกระทำที่เกิดจากการจงใจ ไม่ต้องประคอง ไม่ต้องรักษา
ไม่ต้องอะไรๆทั้งสิ้น เพราะสะพานอันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น
กายและใจซึ่งเปรียบเสมือน
สิ่งเชื่อมต่อให้ข้าสึกอันได้แก่กิเลส-ตัณหา-อวิชชาเข้ามาย่ำยีจิตดวงนี้ให้ต้องพบกับความทุกข์ทรมานมานานแสนนาน
บัดนี้มันได้ถูกทำลายลงด้วยปัญญาอย่างสิ้นเชิง นับจากนี้ต่อไป
กิเลสไม่สามารถปรุงแต่งจิตดวงนี้ได้อีกแล้วเพราะอายตนะภายนอกอันได้แก่ รูป รส
กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมภายในจิต และจิตก็ไม่ปรุงแต่งกิเลส(จิตส่งออกนอก)เพราะจิตที่มีปัญญามันย่อมรู้แล้วว่า
เมื่อไหร่ที่จิตปรุงแต่งกิเลสผลของมันคือ ทุกข์ สถานเดียวเท่านั้น
ทุกอย่างมันเป็นธรรมชาติไปหมด
แม้กระทั้งตัวของจิตเองก็เป็นธรรมชาติเฉกเช่นเดียวกับธรรมชาติตัวอื่นๆ
และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทุกสิ่งทุกอย่างได้ถูกส่งมอบกลับคืนสู่ธรรมชาติไปหมดสิ้นแล้วนับจากนี้ต่อไปไม่มีอะไรที่จะข้องเกี่ยวกันอีกตราบชั่วนิจนิรันดร์
หลายท่านอาจจะสงสัยว่า
ดับอย่างไรถึงเรียกว่า ดับสมุทัย ผู้เขียนอยากจะบอกว่า มนุษย์ทั้งหลายสามารถจะ
ดับสมุทัยเหตุแห่งทุกข์ทั้งหลายได้ด้วยปัญญาเพียงถ่ายเดียวเท่านั้น
ปัญญาในที่นี่คืออะไร
ปัญญาในที่นี้ก็คือการที่จิตเข้าไปรู้ความจริงว่าสิ่งทั้งหลายมันเป็นของไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ และไม่มีตัวตน อย่างอื่นนอกเหนือจากนี้ ไม่มี
ปัญญาของจิตชนิดนี้เป็นปัญญาที่เข็มแข็งมาก ไม่มีความไขว้เขวหรือกวัดแกว่งต่อสิ่งยั่วยุของกิเลสตัณหาเลยแม้แต่นิดเดียว
เพราะปัญญาชนิดนี้มันเข้าไปเห็นความจริงของความอยากทั้งปวงแล้วว่ามันเป็นทุกข์
มันเป็นของไม่เที่ยง และมันก็ไม่มีตัวตนให้ยึดมาเป็นของเราได้อย่างแท้จริง
ปัญญาเห็นอย่างนี้แล้วจึงทำให้จิตยอมรับความจริงข้อนี้โดยดุษฎี ไม่มีข้อแม้ใดๆทั้งสิ้น
หากจิตยังไม่ถึงพร้อมด้วยปัญญาหรือยังเห็นความจริงไม่พอ
จิตก็ยังไม่เกิดความเบื่อหน่ายในความอยากนั้นๆ
และยังจะคงหลงเพลิดเพลินในสิ่งที่เป็นมายา สิ่งที่เป็นภาพลวงตาต่อไปไม่รู้จบ
แต่หากว่าจิตถึงพร้อมด้วยปัญญาเมื่อไหร่แล้วจิตก็จะเกิดความเบื่อหน่าย
เมื่อเบื่อหน่ายมากๆเข้าจิตก็จะคลายกำหนัดความหลงใหล ความรักใคร่ ความเพลิดเพลิน
ความยึดมั่นในความอยากนั้นๆ ถึงแม้นว่าความอยากนั้นจะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ก็ตาม
จิตจะไม่หวั่นไหวเลยแม้แต่นิดเดียว
และทั้งหมดที่กล่าวมานี่แหละเป็นบทพิสูจน์อริยสัจสี่ซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธองค์
และเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกหมู่ทุกเหล่าที่จะต้องทำให้แจ้ง
ความสุขและความทุกข์ของมนุษย์ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของตัณหาทั้งสิ้นเพราะฉะนั้นอย่ามัวไปดับกิเลสกันอยู่เลย
เพราะกิเลสมันเป็นเรื่องของ ธรรมชาติล้วนๆที่ใครก็ไม่สามารถไปดับมันได้
กิเลสมันเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาเป็นเวลาช้านานแล้วและก็ยังคงจะอยู่อย่างนี้ต่อไป
แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวกทุกพระองค์ท่านก็ยังทรงไม่สามารถทำลายกิเลสทั้งสามตัวนี้ได้
แต่สิ่งที่ท่านทำได้คือ
เมื่อใดที่สิ่งเหล่านี้ปรากฏขึ้นแก่ท่านๆไม่ไปยึดมั่นมันว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน
เรา เขาแต่อย่างใด ท่านรู้ดีว่าธรรมชาติของกิเลสทั้งสามตัวนี้เมื่อมันเกิดขึ้น
มันจะตั้งอยู่ และมันก็จะดับไปด้วยตัวของมันเอง เราเป็นเพียงผู้รู้ ผู้ดู
และผู้เห็นเท่านั้นหาได้เข้าไปข้องเกี่ยวกับมันด้วยไม่
ยังมีผู้ปฏิบัติจำนวนมากที่ยังเห็นผิดต่อธรรมะข้อนี้อยู่
จึงต่างพากันพยายามที่จะดับกิเลสที่เรียกว่า ความโลภ ความโกรธ และความหลง
ให้มันมลายหายไปจากตัวของผู้ปฏิบัติ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ ทำไม่ได้
อาจจะมีผู้ที่อ่านบทความนี้แล้วแย้งขึ้นมาว่า
แล้วทำไมครูบาอาจารย์บางท่านๆถึงบอกว่าให้ทำลายกิเลสหละ ผู้เขียนก็จะบอกว่า
ไม่ผิดหรอกที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนอย่างนั้น แต่คุณรู้หรือไม่ว่า
ท่านสอนอย่างนั้นแต่ท่านมิได้ให้พวกเราเข้าใจว่าอย่างนั้น
เพราะกิเลสที่ท่านสามารถทำลายได้นั้น ท่านทำลายด้วย ปัญญา ท่านมิได้ทำลายด้วย
ตัณหาหรือความอยาก ต่างกันนะ ทำลายด้วยปัญญานั้นคือทำลายด้วยการเห็นแจ้งตามความเป็นจริงที่ปรากฏหรือเห็นแจ้งในธรรมชาติโดยถ่ายเดียว
ส่วนทำลายของนักปฏิบัตินั้นมันเป็นการทำลายด้วยความอยาก การกดข่ม การเพ่ง การจ้อง
ซึ่งหากเราปฏิบัติเช่นนี้จนเกิดความเคยชินและชำนาญ
เราก็จะไม่เห็นกิเลสเลยแต่จะเห็นแต่ความว่าง แต่หากสังเกตจิตของผู้ปฏิบัติในขณะที่กิเลสเกิดสักนิดหนึ่งก็จะเห็นเลยว่าขณะที่ความโลภ
ความโกรธ
หรือความหลงเกิดขึ้นมาผู้ปฏิบัติจะใช้สมาธิ(จิตจดจ่ออยู่กับอารมณ์)ในการกดข่มอารมณ์นั้นๆนั่นหละคือการเพ่ง
หรือการจ้องหละ ซึ่งเป็นที่นิยมในการ ถ่ายทอดกันมากในหมู่นักปฏิบัติทั้งหลาย
โดยหารู้ไม่ว่า ทำเช่นนี้ ในทางพระท่านจะเรียกว่า สมถะ
ซึ่งเป็นได้แค่เพียงหินทับหญ้าเท่านั้น
จากวันนั้นถึงวันนี้ผู้เขียนก็ได้ประจักษ์แจ้งแก่ใจตัวเองว่า
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผู้เขียนหลงฆ่าผิดตัวมาตลอด หลงฆ่ากิเลส
ทั้งๆที่ไม่สามารถฆ่ามันได้ ตัวที่สมควรฆ่ากลับไม่ฆ่า
ตัวที่ไม่สมควรฆ่ากลับจะไปฆ่ามัน แล้วมันจะจบไหม….จริงๆแล้วกิเลสที่เรียกว่า
ความหลง มันมีหน้าที่หลอกล่อเราให้เห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด เท่านั้นแหละ
ไม่มีอะไรมากมายหรอก วันใดที่เราทำสิ่งนี้ให้แจ้งด้วย ปัญญา เราก็จะเห็น
สัจธรรมความจริง ที่ไม่เจือด้วยความหลงอีกต่อไปไม่ว่าวันนี้หรือวันไหน
ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติไหน
ความหลงก็เป็นได้แค่ชื่อที่มนุษย์โลกอุปโลกน์ขึ้นมาก็เท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น