Wellcome

ยินดีต้อนรับกัลยาณมิตร ขณะนี้วีดีโอสามารถรับชมได้แล้ว โปรดรับชมตามอัธยาศัย

วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ทำไมพระพุทธองค์ทรงเลือกเฟ้นสัมมาปฏิปทาแห่งทางสายกลาง

ทำไมพระพุทธองค์ทรงเลือกเฟ้นสัมมาปฏิปทาแห่งทางสายกลาง
Why the Middle Path Is Chosen as the Right Path
 
อาจารย์นิธี ศิริพัฒน์

เฉลิมฉลอง “พุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี วันวิสาขบูชา วันจันทร์ที่ มิถุนายน .. ๒๕๕๕
Siripat.Com and Academiae Network 2012
 
…………………………………………………………………………………………………………………………

ทำไมพระพุทธองค์ทรงเลือกเฟ้นสัมมาปฏิปทาแห่งทางสายกลาง

ความหมายของคำว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” แบ่งออกเป็น ๒ นัย คือ “มัชฌิมา” แปลว่า กลาง ไม่หนักเกินไป ไม่เบาเกินไป “ปฏิปทา” แปลว่า แนวทางประพฤติปฏิบัติ เมื่อนำความหมายมารวมกัน “มัชฌิมาปฏิปทา”แปลว่า “ทางสายกลาง” ซึ่ง (๑) ว่าด้วยการเว้น “ที่สุด” ๒ อย่าง นั่นคือเรียกว่า “อันตา ๒” คือ ที่สุด ข้อปฏิบัติหรือการดำเนินชีวิตที่เอียงสุด ผิดพลาดไปจากทางอันถูกต้องคือ “มัชฌิมาปฏิปทา” ได้แก่

(๑) แนวคิดที่ ๑ กามสุขัลลิกานุโยค หมายถึง การหมกมุ่นอยู่ด้วยกามสุข โดยสำคัญผิดว่าเป็นแนวทางแห่งความหลุดพ้นสู่สันติบท ดังเช่น ชีวิตฆราวาสของพระพุทธองค์ที่ได้รับการเสพบำเรอด้วยกามสุขอย่างล้นเหลือ คือ กามราคะและโภคทรัพย์ ซึ่งเป็นไปตามความเชื่อกระแสคติขัตติยะอินเดียโบราณ โดยความหวั่นไหวว่าพระองค์จะทรงออกผนวชตามคติที่สองว่า จะได้เป็นจอมศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ในโลก

(๒) แนวคิดที่ ๒ อัตตกิลมถานุโยค หมายถึง การประกอบความลำบากเดือดร้อนแก่ตนเอง การบีบคั้นทรมานตนให้เดือดร้อน โดยสำคัญผิดว่าเป็นแนวทางแห่งความหลุดพ้นสู่สันติบท ดังเช่น พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยามาก่อน ซึ่งเป็นไปคติของพราหมณ์และฮินดู คือ ความเคร่งครัดในศีลพรต (สีลัพพตปรามาส) ด้วยวิธีที่เรียกว่า “กฎประกาศิต” (Prescriptivism) นั่นคือ การขาดเหตุผลทั้งทางภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งตรงกันข้ามกับ “มัชฌิมาปฏิปทา” ที่เป็น “กฎแบบเชิงพรรณนา”(Descriptivism) ตามเหตุผลที่เป็นจริงโดยอิงกับข้อมูลที่ปรากฏจริงตามธรรมชาติ

สำหรับ (๒) ว่าด้วย “อริยสัจจ์ ๔” ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ญาณ ๓ (สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ)คือ ญาณทัสสนะอันมีปริวัฏฏ์ ๓ อันทำให้พระองค์สามารถปฏิญาณว่า ได้ตรัสรู้ “อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ” คือ ญาณแห่งความตรัสรู้เองโดยชอบอันยอดเยี่ยม ซึ่ง “มัชฌิมาปฏิปทา” หมายถึง “มรรคมีองค์ ๘” นั่นเอง “อริยสัจจ์ ๔” คือ ความจริงอันประเสริฐที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็น“อริยบุคคล” ได้แก่

(๑) ทุกข์ คือ ความทุกข์ สภาพที่ทนได้ยาก สภาวะที่บีบคั้น ขัดแย้ง บกพร่อง ขาดแก่นสารและความเที่ยงแท้ ไม่ให้ความพึงพอใจแท้จริง ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความปรารถนาไม่สมหวังโดยย่อว่า “อุปาทานขันธ์ ๕” เป็นทุกข์
(๒) ทุกขสมุทัย คือ เหตุเกิดแห่งทุกข์ สาเหตุให้ทุกข์เกิด ได้แก่ ตัณหา ๓ คือ กามตัณหาภวตัณหา และ วิภวตัณหา
(๓) ทุกขนิโรธ คือ ความดับทุกข์ ได้แก ่ ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป ภาวะที่เข้าถึงเมื่อกำจัดอวิชชา สำรอกตัณหาสิ้นแล้ว ไม่ถูกย้อม ไม่ติดข้อง หลุดพ้น สงบ ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ คือ “นิพพาน”
(๔) ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา คือ สัมมาปฏิปทาที่นำไปสู่ความดับแห่งทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก  “อริยอัฏฐังคิกมรรค” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า“มัชฌิมาปฏิปทา” แปลว่า “ทางสายกลาง” มรรคมีองค์ ๘ นี้ สรุปลงในไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา

ตามความเป็นจริง “มัชฌิมาปฏิปทา” หมายถึง “มรรคมีองค์ ๘” [/b[b]]คือ “อัฏฐังคิกมรรค” เรียกเต็มว่า “อริยอัฏฐังคิกมรรค” แปลว่า “ทางมีองค์แปดประการ อันประเสริฐ” ได้แก่

(๑) สัมมาทิฏฐิ คือ เห็นชอบ ได้แก่ ความรู้อริยสัจจ์ ๔ หรือ เห็นไตรลักษณ์ หรือรู้อกุศลและอกุศลมูลกับกุศลและกุศลมูล หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท
(๒) สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ ได้แก่ เนกขัมมสังกัปป์ อพยาบาทสังกัปป์ อวิหิงสาสังกัปป์
(๓) สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ ได้แก่ วจีสุจริต ๔
(๔) สัมมากัมมันตะ คือ กระทำชอบ ได้แก่ กายสุจริต ๓
(๕) สัมมาอาชีวะ คือ เลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ เว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ
(๖) สัมมาวายามะ คือ พยายามชอบ ได้แก่ ปธาน หรือ สัมมัปปธาน ๔
(๗) สัมมาสติ คือ ระลึกชอบ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔
(๘) สัมมาสมาธิ คือ ตั้งจิตมั่นชอบ ได้แก่ ฌาน ๔

หลักธรรม “มรรคมีองค์ ๘” จะสนับสนุนแนวคิด (Approach) ในการค้นหาวิธีเพื่อความสำเร็จในความตรัสรู้บรรดาธรรมที่ทำให้เป็นอริยบุคคล ในการค้นหาความจริงอันประเสริฐ เรียกว่า “อริยสัจจ์ ๔” ซึ่งอยู่บนหลักการที่ว่า ต้องผ่านกระบวนการทำให้ไตรสิกขาเกิดความบริสุทธิ์สมบูรณ์ ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ตามปกติให้กลายเป็น อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา พระพุทธองค์ทรงเน้นความตรัสรู้ทั้ง “เจโตวิมุตติ” คือ ความสิ้นอาสวะด้วยอำนาจทางสมาธิ ซึ่งเป็นด้านสมถภาวนาและ “ปัญญาวิมุตติ” คือ ความสิ้นอาสวะด้วยอำนาจทางปัญญา ซึ่งเป็นด้านวิปัสสนาภาวนา

อันดับสุดท้าย คือ (๓) ว่าด้วย “กฎธรรมชาติ” เพราะการค้นหาความจริงโดยปรมัตถ์ ซึ่งเป็นความหมายอันสูงสุด (Ultimate Meaning) คือ คำอธิบายหรือพรรณนาถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงในธรรมชาติ ปราศจากการปรุงแต่งด้วยปัจจัยทั้งหลาย เช่น ไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท–อิทัปปัจจยตา ธรรมนิยาม หรือ ปัจจัย ๒๔ ซึ่งเป็น “ความรู้ที่บริสุทธิ์” (Pure Knowledge) หรือ“โลกุตตรสัมมาทิฏฐิ” เรียกอีกอย่างว่า “โลกุตตรปัญญา” หมายถึง ปัญญาที่สัมปยุตต์ด้วยโลกุตตรมรรค ความรู้ที่พ้นวิสัยของโลก หรือความรู้ที่ช่วยคนให้พ้นโลก ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น หมายถึง“อริยสัจจธรรม” นั่นเอง

วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สัมมาปฏิปทา

รูปภาพ


ธรรมโอวาท

ของ
พระโพธิญาณเถร
(หลวงพ่อชา สุภทฺโท)
วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี


เรื่อง สัมมาปฏิปทา

การทำสมาธิจักสำเร็จขึ้นอยู่กับตัวเรา

อารัมภกถา

วันนี้พวกท่านทั้งหลายได้ตั้งใจมาอบรมที่วัดวนโพธิญาณ (เขื่อนสิรินธร) สถานที่ก็สงบระงับเป็นอย่างดี แต่ว่าสถานที่สงบนั้นถ้าเราไม่สงบมันก็ไม่มีความหมาย ทุกๆ แห่งสถานที่มันสงบทั้งนั้นแหละ ที่มันไม่สงบก็เพราะคนเรา แต่คนที่ไม่สงบไปอยู่ที่สงบก็เกิดความสงบได้ สถานที่มันก็อย่างเก่าของมันนั่นแหละ แต่ว่าเราต้องปฏิบัติให้ถึงความสงบนั้น

ฝึกยากลำบากจริงหนอใจมนุษย์

ให้พวกท่านทั้งหลายเข้าใจว่า การปฏิบัตินี้เป็นของยาก ฝึกอะไรอย่างอื่นๆ ทุกอย่างมันก็ไม่ยาก มันก็สบาย แต่ใจของมนุษย์ทั้งหลายนี้ฝึกได้ยาก ฝึกได้ลำบาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราท่านก็ฝึกจิต จิตนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก อะไรทั้งหมดในรูปธรรมนามธรรมนี้ มันรวมอยู่ที่จิต เช่นว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย เหล่านี้ ส่งไปให้จิตอันเดียวเป็นผู้บริหารการงาน รับรู้รับฟังผิดชอบจากอายตนะทั้งหลายเหล่านั้น ฉะนั้นการอบรมจิตนี้จึงเป็นของสำคัญ ถ้าใครอบรมจิตของตนให้สมบูรณ์แล้ว ปัญหาอะไรทุกอย่างมันก็หมดไป ที่มันมีปัญหาอยู่ก็เพราะจิตของเรานี้เองยังมีความสงสัย ไม่มีความรู้ตามความเป็นจริง จึงเป็นเหตุให้มีปัญหาอยู่

ธรรมะเป็นของบริบูรณ์และสมบูรณ์

ฉะนั้นให้เข้าใจว่า อาการทั้งหลายที่จะต้องปฏิบัตินั้น พวกท่านทั้งหลายก็ได้เตรียมมาพร้อมแล้วทุกคน จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอนที่ไหน อุปกรณ์ที่ท่านทั้งหลายจะนำไปปฏิบัตินั้น...พร้อม ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ตาม พร้อมอยู่ มีอยู่ เป็นของพร้อมอยู่ เหมือนกันกับธรรมะ ธรรมะนี้เป็นของพร้อมอยู่ทุกสถานที่ อยู่ที่นี้ก็พร้อม อยู่ในส้วมก็พร้อม บนบกก็พร้อม ในน้ำก็พร้อม อยู่ที่ไหนมันพร้อมอยู่ทั้งนั้นแหละ ธรรมะเป็นของสมบูรณ์บริบูรณ์ แต่ว่าการประพฤติปฏิบัติของเรานี้ยังไม่พร้อม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราท่านมีรากฐานให้เราทั้งหลายปฏิบัติให้รู้ธรรมะ ไม่เป็นของมาก มันเป็นของน้อย แต่เป็นของที่ถูกต้อง เช่นว่าจะเปรียบเทียบให้ฟังเรื่องขน ถ้าเรารู้จักว่าอันนี้มันเป็นขน รู้จักขนเส้นเดียวเท่านั้น ขนในร่างกายเรานี้ทุกเส้น แม้ในร่างกายคนอื่นทุกเส้น ก็รู้กันหมดทั้งนั้นแหละ รู้ว่าเป็นขนทั้งนั้น หรือเส้นผม รู้จักผมเส้นเดียวเท่านั้น ผมบนศีรษะของเรา บนศีรษะของคนอื่นก็รู้หมดทุกเส้นเหมือนกัน ที่รู้กเพราะว่ามันเป็นเส้นผมเหมือนกัน เรารู้ผมเส้นเดียว แต่ก็รู้ทุกเส้นผม หรือจะเปรียบประหนึ่งว่าเรารู้จักกับคน ลักษณะของคนเหมือนตัวเรานี้ จะพิจารณาสกลกายทุกประการนั้นเห็นแจ่มแจ้งในคนๆ เดียว คือตัวเรา พบเห็นสภาวะทั้งหลายในตัวเราคนเดียวเท่านี้ คนในสกลโลกสกลจักรวาลนี้เราก็รู้กันหมดทุกๆ คน เพราะว่าคนมันก็เหมือนกันทั้งนั้น ธรรมะนี้ก็เป็นอย่างนี้ เป็นของน้อย แต่ว่ามันเป็นของมาก คือความจริงพบสิ่งเดียวแล้วมันก็พร้อมกันไปหมด เมื่อเรารู้ความจริงตามเป็นจริงแล้ว ปัญหามันก็หมดไป

อย่าปฏิบัติเพราะความอยาก

แต่ว่าการปฏิบัตินี้มันยาก มันยากเพราะอะไร มันยากเพราะตัณหาความอยาก ถ้าไม่อยากก็ไม่ได้ปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติเพราะความอยากก็ไม่พบธรรมะ อันนี้มันเป็นปัญหาอยู่อย่างนี้ ฉะนั้นในการประพฤติปฏิบัตินี้มันมีความยุ่งยาก มีความลำบาก ถ้าไม่มีความอยากก็ไม่มีกำลังที่จะปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติเพราะความอยากก็วุ่นวาย ไม่มีความสงบ ทั้งสองอย่างนี้เป็นเหตุอยู่เสมอ ดังนั้นท่านทั้งหลายลองคิดดูซิว่าจะทำอะไรๆ ถ้าไม่อยากทำมันก็ทำไม่ได้ มันต้องอยากทำมันถึงทำได้ ถ้าไม่อยากจะทำก็ไม่ได้ทำ ก้าวไปข้างหน้ามันเป็นตัณหา ถอยกลับมามันก็เป็นตัณหาทั้งนั้น ดังนั้นพระโยคาวจรเจ้าผู้ประพฤติปฏิบัตินี้จึงว่าเป็นของยุ่งยาก เป็นของลำบากที่สุดอยู่เหมือนกัน


ธรรมะไม่ใช่ใจเรา ใจเราไม่ใช่ธรรมะ

ที่เราไม่เห็นธรรมะก็เพราะตัณหา บางทีมันอยากอย่างรุนแรงคืออยากจะเห็นเดี๋ยวนี้ ธรรมะนี้ไม่ใช่ใจเรา ใจเราไม่ใช่ธรรมะ ธรรมะมันเป็นอย่างหนึ่ง ใจเรามันเป็นอย่างหนึ่ง มันคนละอย่างกัน ฉะนั้นแม้เราจะคิดอย่างไรก็ตาม อันนี้เราชอบเหลือเกิน แต่มันไม่ใช่ธรรมะ อันนี้เราไม่ชอบมันก็ไม่ใช่ธรรมะ ไม่ใช่ว่าเราคิดชอบใจอะไรอันนั้นเป็นธรรมะ เราคิดไม่ชอบใจอะไรอันนั้นไม่ใช่ธรรมะ..... ไม่ใช่อย่างนั้น แท้จริงใจของเรานี้เป็นธรรมชาติอันหนึ่งเท่านั้น อย่างต้นไม้ตามป่านั่นแหละ ถ้ามันจะเป็นขื่อเป็นแปเป็นกระดาน มันก็มาจากต้นไม้ แต่ว่ามันเป็นต้นไม้อยู่ไม่ใช่ขื่อไม่ใช่แป มันเป็นต้นไม้อยู่ มันเป็นธรรมชาติเท่านั้น ก่อนที่จะทำประโยชน์ได้ ก็ต้องเอาต้นไม้มาแปรรูปออกไปเป็นขื่อ เป็นแป เป็นกระดาน เป็นโน่นเป็นนี่ เป็นต้นไม้ต้นเดียวกัน แต่มันแปรรูปมาเป็นหลายอย่าง เมื่อรวมกันมันก็เป็นต้นไม้อันเดียวกันเป็นธรรมชาติ ถ้าหากว่ามันเป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น มันก็ไม่เกิดประโยชน์ขึ้น เฉพาะกับบุคคลที่ต้องการ จิตใจของเราก็เหมือนกันฉันนั้น มันเป็นธรรมชาติอันหนึ่งอยู่อย่างนั้น มันรู้จักการนึกคิด รู้จักสวยไม่สวยตามธรรมชาติของมัน

ฝึกจิตให้รู้ว่าเป็นธรรมชาติ

ฉะนั้นจิตใจเรานั้นจะต้องถูกฝึกอีกครั้งหนึ่งก่อน ถ้าไม่ฝึกมันก็ไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติ ฝึกให้รู้ว่ามันเป็นธรรมชาติ เราก็มาปรับปรุงธรรมชาตินั้น ให้ถูกต้องตามความต้องการของมนุษย์ คือธรรมะ ธรรมะนี้จึงเป็นของที่พวกเราทั้งหลายจงปฏิบัติเอาเข้ามาในใจ เอาไว้ในใจของเรา ถ้าไม่ปฏิบัติก็ไม่รู้ พูดกันตรงๆ ง่ายๆ อ่านหนังสือเฉยๆ ก็ไม่รู้ เรียนเฉยๆ ก็ไม่รู้ มันรู้อยู่ แต่มันไม่รู้ตามที่เป็นจริง คือมันรู้ไม่ถึง อย่างกระโถนใบนี้ ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นกระโถน แต่ไม่รู้ถึงกระโถน ทำไมไม่รู้ถึงกระโถน ถ้าผมจะเรียกกระโถนว่าหม้อท่านจะว่าอย่างไร ทุกทีที่ผมใช้ท่านว่า “เอาหม้อมาให้ผมด้วยเถอะ” มันก็ต้องขัดใจท่านทุกที ทำไมล่ะ ก็เพราะว่าท่านไม่รู้กระโถนถึงกระโถน ผมจะใช้ให้ท่านเอากระโถนมาแต่บอกให้เอาหม้อมาให้ผมหน่อย ท่านก็ไม่พบ “หม้ออยู่ที่ไหนหลวงพ่อ” ก็ชี้ไปที่กระโถนนั่นแหละ มันก็ไม่เข้าใจ ขัดใจกันเท่านั้น ปัญหามันก็เกิดขึ้นมา ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น เพราะท่านไม่รู้กระโถนถึงกระโถน ถ้าท่านรู้กระโถนถึงกระโถนแล้วมันก็ไม่มีปัญหาอะไร ท่านก็จะหยิบวัตถุอันนั้นมาให้ผมเลย ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น คือกระโถนใบนี้นะมันไม่มี เข้าใจไหม มันมีขึ้นมาเพราะเราสมมุติขึ้นว่านี่คือกระโถน มันก็เลยเป็นกระโถน สมมุติอันนี้มันรู้กันทั่วประเทศแล้ว ว่ามันเป็นกระโถนอย่างนี้ แต่กระโถนจริงน่ะมันไม่มี หรือใครจะเรียกให้มันเป็นหม้อมันก็เป็นให้เราอย่างนั้น จะเรียกให้เป็นอะไรมันก็เป็นอย่างนั้น นี่เรียกว่า “สิ่งสมมติ” ถ้าเรารู้ถึงกระโถนแล้วเขาจะเรียกว่าหม้อก็ไม่มีปัญหา จะเรียกอะไรมันก็หมดปัญหาแล้ว เพราะเรารู้ไม่มีอะไรปิดบังไว้ นั่นคือคนรู้จักธรรมะ



ทีนี้ย้อนเข้ามาถึงตัวเรา เช่นเขาจะพูดว่า “ท่านนี้เหมือนกับคนบ้านะ” “ท่านนี้เหมือนคนไม่พอคนนะ” อย่างนี้เป็นต้น ก็ไม่สบายใจเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ตัวเราไม่เป็นจริง อะไรมันก็ยากอยู่นะ อยากได้อยากเป็น เพราะความอยากได้อยากเป็นมันไม่รู้จักพอ เพราะไม่รู้ตามความจริงนั่นเอง ฉะนั้นธรรมะถ้าเรารู้จักตรัสรู้ธรรมตามความเป็นจริงแล้ว โลภ โกรธ หลง มันจึงหมดไป เพราะมันไม่มีอะไรทั้งนั้น อันนี้ควรปฏิบัติ


สงบจิตด้วยการนั่งสมาธิ


ปฏิบัติทำไมมันถึงยากถึงลำบาก เพราะว่ามันอยาก พอไปนั่งสมาธิปุ๊บก็ตั้งใจว่าอยากจะให้มันสงบ ถ้าไม่มีความอยากให้สงบก็ไม่นั่งไม่ทำอะไร พอเราไปนั่งก็อยากให้มันสงบ เมื่ออยากให้มันสงบ ตัววุ่นวายก็เกิดขึ้นมาอีก ก็เห็นสิ่งที่ไม่ต้องการเกิดขึ้นมาอีก มันก็ไม่สบายใจอีกแล้ว นี่มันเป็นอย่างนี้

ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านสอนว่า อย่าพูดให้เป็นตัณหา อย่ายืนให้เป็นตัณหา อย่านั่งให้เป็นตัณหา อย่านอนให้เป็นตัณหา อย่าเดินให้เป็นตัณหา ทุกประการนั้นอย่าให้เป็นตัณหา ตัณหาแปลว่าความอยาก ถ้าไม่อยากจะทำอะไรเราก็ไม่ได้ทำ อันนั้นปัญญาของเราไม่ถึง ทีนี้มันก็เลยอู้เสีย ปฏิบัติไปไม่รู้จะทำอย่างไร พอไปนั่งสมาธิปุ๊บ ก็ตั้งความอยากไว้แล้ว อย่างพวกเราที่มาปฏิบัติอยู่ในป่านี้ ทุกคนต้องอยากมาใช่ไหม นี่จึงได้มาอยากมาปฏิบติที่นี้ มาปฏิบัตินี่ก็อยากให้มันสงบ อยากให้มันสงบก็เรียกว่าปฏิบัติเพราะความอยาก มาก็มาด้วยความอยาก ปฏิบัติก็ปฏิบัติด้วยความอยาก เมื่อมาปฏิบัติแล้วมันจึงขวางกัน ถ้าไม่อยากก็ไม่ได้ทำ จึงเป็นอยู่อย่างนี้ จะทำอย่างไรกับมันล่ะ

สังขารไม่ใช่ของตัวของตน

รูปนามหรือสกลกายเรานี้มันจึงดูได้ยาก ถ้าหากไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของตนแล้วมันเป็นตัวของใคร อันนี้มันถึงแยกยาก มันถึงลำบากเราจะต้องอาศัยปัญญา ดังนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านจึงสอนว่าการกระทำก็กระทำด้วยการปล่อยวาง การกระทำด้วยการปล่อยวางอันนี้ก็ฟังยากเหมือนกัน ถ้าจะปล่อยวางก็ไม่ทำเท่านั้น เพราะทำด้วยการปล่อยวางเปรียบง่ายๆ ให้ฟัง เราไปซื้อกล้วยหรือซื้อมะพร้าวใบหนึ่งจากตลาดแล้วก็เดินหิ้วมา อีกคนหนึ่งก็ถาม

“ท่านซื้อกล้วยมาทำไม”

“ซื้อไปรับประทาน”

“เปลือกมันต้องรับประทานด้วยหรือ”

“เปล่า”

“ไม่เชื่อหรอก ไม่รับประทานแล้วเอาไปทำไมเปลือกมัน”

หรือเอามะพร้าวใบหนึ่งมาก็เหมือนกัน

“เอามะพร้าวไปทำไม”

“จะเอาไปแกง”

“เปลือกมันแกงด้วยหรือ”

“เปล่า”

“เอาไปทำไมล่ะ”

เอ้า จะว่าอย่างไรล่ะ เราจะตอบปัญหาเขาอย่างไร ทำด้วยความอยาก ถ้าไม่อยากเราก็ไม่ได้ทำ ทำด้วยความอยากมันก็เป็นตัณหา นี่ถึงให้มันมีปัญญานะ อย่างกล้วยใบนั้นหวีนั้นเปลือกมันจะเอาทานด้วยหรือเปล่า ไม่ ท่านเอาไปทำไมเปลือกมัน ก็เพราะว่ายังไม่ถึงเวลาเอามันทิ้ง มันก็ห่อเนื้อในมันไปอยู่อย่างนั้น ถ้าหากว่าเราเอากล้วยข้างในมันทานแล้ว เอาเปลือกมันโยนทิ้งไปก็ไม่มีปัญหาอะไร นี่ก็เหมือนกัน

อย่าให้ตัณหาเข้าครอบงำในการปฏิบัติ

การกระทำความเพียรก็เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าว่า อย่าทำให้เป็นตัณหา อย่าพูดให้เป็นตัณหา อย่าฉันให้เป็นตัณหา ยืนอยู่ เดินอยู่ นั่งอยู่ นอนอยู่ ทุกประการท่านไม่ให้เป็นตัณหา คือทำด้วยการปล่อยวาง เหมือนกับซื้อมะพร้าว ซื้อกล้วยมาจากตลาดนั่นแหละ เราไม่ได้เอาเปลือกมันมาทานหรอก แต่เวลานั้นยังไม่ถึงเวลาจะทิ้งมัน เราก็ถือมันไว้ก่อน การประพฤติปฏิบัตินี้ก็เหมือนกันฉันนั้น สมมุติวิมุติมันก็ต้องปนอยู่อย่างนั้น เหมือนกับมะพร้าว มันจะปนอยู่ทั้งเปลือกทั้งกะลาทั้งเนื้อมัน เมื่อเราเอามาก็เอามาทั้งหมดนั่นแหละ เขาจะหาว่าเราทานเปลือกมะพร้าวอย่างไรก็ช่างเขาปะไร เรารู้จักของเราอยู่เช่นนี้เป็นต้น อันความรู้ในใจของตัวเองอย่างนี้ เป็นปัญญาที่เราจะต้องตัดสินเอาเอง นี้เรียกว่าตัวปัญญา ดังนั้นการปฏิบัติเพื่อจะเห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ไม่เอาเร็วและไม่เอาช้า ช้าก็ไม่ได้ เร็วก็ไม่ได้ จะทำอย่างไรดี ไม่มีช้า ไม่มีเร็ว เร็วก็ไม่ได้ มันไม่ใช่ทาง ช้าก็ไม่ได้ มันไม่ใช่ทาง มันก็ไปในแบบเดียวกัน

ตั้งใจทำสมาธิมากเกินไป ก็กลายเป็นความอยาก

แต่ว่าพวกเราทุกๆ คนมันร้อนเหมือนกันนะ มันร้อน พอทำปุ๊บก็อยากให้มันไปไวๆ ไม่อยากจะอยู่ช้า อยากจะไปหน้า การกำหนดตั้งใจหาสมาธินี้ บางคนตั้งใจเกินไป บางคนถึงกับอธิษฐานเลย จุดธูปปักลงไป กราบลงไป “ถ้าธูปดอกนี้ไม่หมด ข้าพเจ้าจะไม่ลุกจากที่นั่งเป็นอันขาด มันจะล้ม มันจะตาย มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน จะตายอยู่ที่นี้แหละ” พออธิษฐานตั้งใจปุ๊บก็นั่ง มันก็เข้ามารุมเลย พญามาร นั่งแพล็บเดียวเท่านั้นแหละ ก็นึกว่าธูปมันคงจะหมดแล้วเลยลืมตามขึ้นมาดูสักหน่อย โอ้โฮยังเหลือเยอะ กัดฟันเข้าไปอีก มันร้อนมันรนมันวุ่นมันวาย ไม่รู้ว่าอะไรอีก เต็มทีแล้ว นึกว่ามันจะหมด ลืมตาดูอีก โอ้โฮยังไม่ถึงครึ่งเลย สองทอดสามทอดก็ไม่หมด เลยเลิกเสีย เลิก ไม่ทำ นั่งคิดอาภัพอับจน แหม ตัวเองมันโง่เหลือเกิน มันอาภัพ มันอย่างโน้นอย่างนี้ นั่งเป็นทุกข์ว่าตัวเองเป็นคนไม่จริง คนอัปรีย์ คนจัญไร คนอะไรต่อมิอะไรวุ่นวาย ก็เลยเกิดเป็นนิวรณ์ นี่ก็เรียกว่าความพยาบาทเกิด ไม่พยาบาทคนอื่น ก็พยาบาทตัวเอง อันนี้ก็เพราะอะไร เพราะความอยาก

ทำสมาธิด้วยการปล่อยวาง อย่าทำด้วยความอยาก

ความเป็นจริงนั้นนะ ไม่ต้องไปทำถึงขนาดนั้นหรอก ความตั้งใจนะคือตั้งใจในการปล่อยวาง ไม่ต้องตั้งใจในการผูกมัดอย่างนั้น อันนี้เราไปอ่านตำราเห็นประวัติพระพุทธเจ้าว่า ท่านนั่งลงที่ใต้ต้นโพธิ์นั้น ท่านอธิษฐานจิตลงไปว่า “ไม่ตรัสรู้ตรงนี้จะไม่ลุกหนีเสียแล้ว แม้ว่าเลือดมันจะไหลออกมาอะไรก็ตามทีเถอะ” ได้ยินคำนี้เพราะไปอ่านดู แหม เราก็จะเอาอย่างนั้นเหมือนกัน จะเอาอย่างพระพุทธเจ้าเหมือนกันนี่ ไม่รู้เรื่องว่ารถของเรามันเป็นรถเล็กๆ รถของท่านมันเป็นรถใหญ่ ท่านบรรทุกทีเดียวก็หมด เราเอารถเล็กไปบรรทุกทีเดียวมันจะหมดเมื่อไหร่ มันคนละอย่างกัน เพราะอะไรมันถึงเป็นอย่างนั้น มันเกินไป บางทีมันก็ต่ำเกินไป บางทีมันก็สูงเกินไป ที่พอดีๆ มันหายาก

การปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอเป็นทางที่ถูกต้อง

อันนี้ผมก็พูดไปตามความรู้สึกของผมหรอก ผมปฏิบัติมาเป็นอย่างนี้ ก็ปฏิบัติให้ละความอยาก ถ้าไม่อยากมันจะทำได้หรือ มันก็ติดแต่ทำด้วยความอยาก มันก็เป็นทุกข์อีก ไม่รู้จะทำอย่างไร ยังงงเหมือนกันนะ ทีนี้ผมจึงเข้าใจว่า การปฏิบัติที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันไปเป็นของสำคัญมาก ต้องทำสม่ำเสมอ ท่านเรียกว่าอิริยาบถสม่ำเสมอ คือสม่ำเสมอในการปฏิบัติ ทำให้มันดียิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ใช่ให้มันวิบัติกัน ปฏิบัติมันเป็นอย่างหนึ่ง วิบัติมันเป็นอย่างหนึ่ง โดยมากพวกเราทั้งหลายมาทำแต่เรื่องมันเป็นวิบัติกัน ขี้เกียจไม่ทำ ขยันจึงทำ นี่ผมก็ชอบเป็นอย่างนี้ ขี้เกียจไม่ทำ ขยันจึงทำ พวกท่านทั้งหลายคิดดูซิว่าถูกหรือเปล่า ขยันจึงทำ ขี้เกียจไม่ทำ มันถูกธรรมะไหม มันตรงไหม มันเหมือนกับคำสอนไหม อันนี้ปฏิปทาของเรายังไม่สม่ำเสมอแล้ว ขี้เกียจหรือขยันต้องทำอยู่เรื่อย พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนั้น โดยมากคนธรรมดาเรานั้นขยันจึงค่อยทำ ขี้เกียจไม่ทำ นี่มันเป็นเสียอย่างนี้ มันปฏิบัติอยู่แค่นี้ก็เรียกว่ามันวิบัติเสียแล้ว มันไม่ใช่ปฏิบัติ การปฏิบัติจริงๆ แล้ว มันสุขก็ปฏิบัติ มันทุกข์ก็ปฏิบัติ มันง่ายก็ปฏิบัติ มันยากก็ปฏิบัติ มันร้อนก็ปฏิบัติ มันเย็นก็ปฏิบัติ นี่เรียกว่าตรงไปตรงมาอย่างนี้ ปฏิปทาที่เราต้องยืน หรือเดิน หรือนั่ง หรือนอน การมีความรู้สึกนึกคิดที่เราจะต้องปฏิบัติในหน้าที่การงานของเรานั้น ต้องสม่ำเสมอ ทำสติให้สม่ำเสมอในอิริยาบถ การยืน การเดิน การนั่ง การนอน

มีสติกำหนดอยู่ในทุกอิริยาบถ

นี่เมื่อพิจารณาดูแล้ว ก็เหมือนอิริยาบถยืนให้เท่ากับเดิน เดินก็เท่ากับยืน ยืนก็เท่ากับนั่ง นั่งก็เท่ากับนอนนะ อันนี้ผมทำแล้ว ทำไม่ได้ ถ้าว่านักปฏิบัตินี้ต้องทำการยืน การเดิน การนั่ง การนอนให้ได้เสมอกัน จะทำได้สักกี่วันล่ะ จะยืนให้เสมอกับนั่ง ยืน 5 นาที นั่ง 5 นาที นอน 5 นาที อะไรทั้งหลายนี้ ผมทำไม่นาน ก็มานั่งคิดพิจารณาใหม่ อะไรกันหนอ อย่างนี้คนในโลกนี้ทำไม่ได้หรอก ผมพยายามทำไปค้นคิดไป “อ้อ มันไม่ถูกนี่ มันไม่ถูก” ดูแล้วมันไม่ถูก ทำไม่ได้ นอนกับนั่งกับเดินกับยืน ทำให้มันเท่ากัน จะเรียกว่าอิริยาบถสม่ำเสมอกันแบบท่าน บอกไว้ว่าทำอิริยาบถให้สม่ำเสมออย่างนั้นไม่ได้

แต่ว่าเราทำอย่างนี้ได้ จิต...พูดถึงส่วนจิตของเรา ให้มีสติความระลึกอยู่ สัมปชัญญะความรู้ตัวอยู่ ปัญญาความรอบรู้อยู่ อันนี้ทำได้ อันนี้น่าจะเอาไปปฏิบัติ คือเรียกว่า ถ้าเราปฏิบัติ เราจะยืนอยู่ก็มีสติ เราจะนั่งอยู่ก็มีสติ เราจะเดินอยู่ก็มีสติ เราจะนอนก็มีสติอยู่สม่ำเสมออย่างนี้ อันนี้ไปได้ จะเอาตัวรู้ไปเดิน ไปยืน ไปนั่ง ไปนอนให้เสมอกันทุกอิริยาบถไปได้ ดังนั้นเมื่อเราฝึกจิตของเรา จิตจะมีความรู้สม่ำเสมอในการปฏิบัติกับทุกอิริยาบถว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ คือความรู้ รู้จักอะไร รู้จักภาวะที่ถูกต้อง รู้จักลักษณะที่ถูกต้องอยู่เสมอนั้น จะยืนก็มีจิตอยู่อย่างนั้น จะเดินก็มีจิตเป็นอยู่อย่างนั้น เออ อันนี้ได้ใกล้เข้าไปเหลือเกิน เฉียดๆ เข้าไปมากเหลือเกิน เรียกว่าจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน อยู่นี้ มันมีสติอยู่เสมอทีเดียว

ธรรมที่ควรละ ธรรมที่ควรปฏิบัติ

อันนี้รู้จักธรรมที่ควรละ รู้ธรรมที่ควรปฏิบัติ สุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ เมื่อมันรู้สุข รู้ทุกข์ จิตใจเราจะวางตรงที่ว่ามันไม่สุขไม่ทุกข์ เพราะว่าสุขนั้นมันก็เป็นทางหย่อน กามสุขัลลิกานุโยโค ทุกข์มันก็เป็นทางตึงคืออัตตกิลมถานุโยโค ถ้าเรารู้สุขรู้ทุกข์อยู่ เรารู้จักสิ่งทั้งสองนี้ ถึงแม้ว่าจิตใจเรามันจะเอนไปเอนมา เราก็ชักมันไว้ เรารู้อยู่ว่ามันจะเอนไปทางสุขก็ชักมันไว้ มันจะเอนไปทางทุกข์ก็ชักมันไว้ ไม่ให้เอนไป รู้อยู่อย่างนี้ น้อมเขามาเส้นทางเดียว เอโก ธัมโม นี้ น้อมเข้ามาในทางที่รู้ ไม่ใช่ว่าเราปล่อยไปตามเรื่องของมัน

แต่ว่าเราปฏิบัติกันนี้มันก็อยากจะเป็นอย่างนั้นนะ มันปล่อยตามใจ ถ้าเราปล่อยตามใจ มันสบายนะ แต่ว่ามันสบายก็เพื่อไม่สบาย อย่างมันขี้เกียจทำงานนี่ มันก็สบาย แต่ว่าเมื่อถึงเวลาจะกินไม่มีอะไรจะกิน มันเป็นอย่างนั้น ดังนั้นผมก็ไปเถียงคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งมีอยู่หลายบทหลายเหล่าเหมือนกัน สู้ท่านไม่ได้ ทุกวันนี้ผมก็ยอมรับท่านแล้ว ยอมรับว่าธรรมะทั้งหลายของท่านถูกต้องทีเดียว ฉะนั้นจึงเอาคำสอนของท่านนี้มาอบรมตัวเองและศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย นี่พูดตามความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นมา

ปฏิปทา (การกระทำของเรา) เป็นสิ่งสำคัญ

การปฏิบัติที่สำคัญที่สุดคือปฎิปทา ปฏิปทาคืออะไร คือการกระทำของตัวเรานั้นแหละ การยืน การเดิน การนั่ง การนอน ทุกประการ ปฏิปทาทางกาย ปฏิปทาทางจิตของเรานั่นนะ วันนี้มันมีจิตใจเศร้าหมองในการทำงานกี่ครั้งไหม มีใจสบายไหม มีอะไรเป็นอะไรไหม อันนี้เราต้องรู้มัน รู้จักตัวเองอย่างนี้ รู้แล้วมันวางได้ไหม อันที่มันยังวางไม่ได้ก็พยายยามปฏิบัติมัน เมื่อมันรู้ว่าวางไม่ได้ก็ถือไว้ เพื่อเอาไปพิจารณาด้วยปัญญาเราอีก ให้มีเหตุผล ค่อยๆ ทำไปอย่างนี้เรียกว่าการปฏิบัติ อย่างเช่นวันนี้มันขยันก็ทำ ขี้เกียจก็พยายามทำไม่ได้ทำมากก็ให้ได้สักครึ่งหนึ่งก็เอา อย่าไปปล่อยวันนี้ขี้เกียจไม่ทำ อย่างนี้ไม่ได้หรอก เสียหายเลย ไม่ใช่นักปฏิบัติแล้ว

ที่นี้ผมเคยได้ยิน

“แหม ปีนี้ผมแย่เหลือเกิน”

“ทำไม”

“ผมป่วยทั้งปี ไม่ได้ปฏิบัติเลย”

โอ้โฮ มันจวนจะตายแล้วก็ยังไม่ปฏิบัติอีก จะไปปฏิบัติเมื่อไหร่ล่ะ ถ้าหากว่ามันสุขจะปฏิบัติไหม มันสุขก็ไม่ปฏิบัติอีก มันติดสุขเท่านั้นแหละ แต่ทุกข์มันไม่ปฏิบัติก็ติดทุกข์อยู่นั่นแหละ ไม่รู้จะไปปฏิบัติกันเมื่อไหร่ ได้แต่รู้ว่ามันป่วย มันเจ็บ มันไข้จวนจะตายนั่นแหละ ให้มันหนักๆ เถอะที่เราจะต้องปฏิบัติเอา เมื่อเราสบายเกิดขึ้นมามันก็ต้องชูใจของเรา ยกหูชูหางไปสูงๆ อีก มันก็ต้องปฏิบัติมันอีก สองอย่างนี้หมายความว่า จะเป็นสุขก็ต้องปฏิบัติ จะเป็นทุกข์ก็ต้องปฏิบัติ จะอยู่สบายๆ อย่างนี้ก็ต้องปฏิบัติ จะเป็นไข้อยู่ก็ต้องปฏิบัติ มันถึงจะถูกแบบ ถ้าเราคิดอย่างนี้ ....

“ปีนี้ผมไม่ปฏิบัติ”

“ทำไมไม่ปฏิบัติ”

“ผมเป็นไข้ไม่สบายครับ”

...เออ เมื่อมันสบายมันก็ร้องเพลงไปเท่านั้นแหละ อย่างนี้มันเป็นความคิดผิดนะ ไม่ใช่ว่ามันไม่ผิด ดังนั้น พระโยคาวจรเจ้าท่านจึงมีปฏิปทาสม่ำเสมอในเรื่องจิต เป็นก็ให้เป็นแต่เรื่องกาย

ประสบการณ์ของหลวงพ่อในการปฏิบัติ

มีระยะหนึ่งที่อาตมาพยายามปฏิบัติ ตอนนั้นปฏิบัติได้ประมาณห้าพรรษาแล้ว ก็อยู่กับเพื่อนมากๆ แหม มันรำคาญเพื่อน คนนี้ก็พูดอย่างนั้น คนนั้นก็พูดอย่างนี้ เรานั่งอยู่กุฏิจะปฏิบัติกรรมฐานก็มีเพื่อนขึ้นไปคุยด้วย วุ่นวาย หนี หนีไปคนเดียว ว่าเพื่อนกวนเรา ไม่ได้ปฏิบัติ เบื่อ...ไปอยู่ในป่ารกวัดป่าวัดเล็กๆ ร้างๆ ไปแล้วละ มีหมู่บ้านน้อยๆ ไปนั่งคนเดียวไม่ได้พูด เพราะอยู่คนเดียวนี่ อยู่ได้สักประมาณ 15 วัน ก็เกิดความคิดมาอีกแล้ว

“แหม อยากได้เณรเล็กๆ สักรูปหนึ่งก็ดีนะ อยากได้ปะขาวมาสักคนก็ดีนะ เพื่อจะได้มาใช้อะไรเล็กๆ น้อยๆ ” นี่เราก็รู้อยู่ว่ามันจะออกมาท่าไหน ออกมาทั้งนั้นละ

“เอ! แกนี่ตัวสำคัญนะ เบื่อเพื่อน เบื่อภิกษุสามเณรมาแล้ว ยังอยากเอาเพื่อนมาอีกทำไมเล่า”

“เปล่า” มันว่า “เอาเพื่อนที่ดี”

แน่ะ! “คนดีมีที่ไหนล่ะ” เห็นไหม หาคนดีเห็นไหม คนทั้งวัดมีแต่คนไม่ดีทั้งนั้นแหละ ดีเราคนเดียวละมั้ง เราจึงหนีเขามานี่ ต้องตามมันอย่างนี้ สะกดรอยมันไป มันรู้สึกขึ้นมา เออ อันนี้มันก็สำคัญเหมือนกันนะ แล้วคนดีอยู่ที่ไหนละ ไม่มีคนดีทั้งนั้นแหละ คนดีอยู่ที่ตัวเรา ทุกวันนี้อาตมาก็ยังมาสั่งสอนลูกศิษย์อยู่เสมอว่า คนดีไม่มีที่อื่น อยู่ที่ตัวเรา ถ้าเราดีเราไปไหนมันก็ดี เขาจะนินทา เขาจะสรรเสริญ เราก็ยังดีอยู่ เขาจะว่าอะไรทำอะไร เราก็ยังดีอยู่ ถ้าเรายังไม่ดี เขานินทาเรา เราก็จะโกรธ ถ้าเขาสรรเสริญเรา เราก็ชอบอย่างเก่าเท่านั้นแหละ

วันนั้นอาตมาภาวนาได้อย่างนั้น มีความรู้สึกอย่างนั้น ก็รู้สึกตั้งแต่วันนั้นมา รู้ได้ตามเป็นจริง มีความจริงอยู่เท่าทุกวันนี้ อันความดีมันอยู่กับตัวเอง พอได้เห็นปุ๊บความรู้สึกมันลดลง มันจำตั้งแต่วันนั้นเลย ต่อมามีขึ้นมามันก็ปล่อยไป มีขึ้นมามันก็รู้ มีขึ้นมามันก็รู้เรื่อยไป อันนี้เป็นรากฐาน เราจะไปอยู่ที่ไหน คนเขาจะรังเกียจ หรือคนเขาจะว่าอะไร ก็คือว่าไม่ใช่เขาดีหรือเขาชั่ว ถ้ามันดีมันชั่วคือตัวเรานี้ คนอื่นมันเรื่องของคนอื่นเขา มันเป็นอยู่อย่างนั้น อย่าไปเข้าใจว่า แหม วันนี้มันร้อน วันนี้มันเย็น วันนี้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้นะ วันมันจะเป็นอย่างไรมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น ความจริงตัวเรามันเสือกไสไปให้โทษเขาเท่านั้น ท่านว่าเห็นธรรมะเกิดกับตัวเองนี่แหละมันแน่นอน และได้ความสงบระงับด้วย

ขอให้พึงตามดูจิตอย่างสม่ำเสมอ

ฉะนั้นพวกเราท่านทั้งหลายที่ได้มาอบรมในวันนี้ แม้ไม่กี่วันอาตมานึกว่าคงจะมีอะไรขึ้นมาหลายอย่าง มีขึ้นมาก็ยังไม่รู้ มันมีเยอะแยะนะ ไม่ใช่ว่าเรารู้มันนะ ที่ไม่รู้มันก็เยอะแยะ คิดถูกก็มีคิดผิดก็มีอะไรหลายๆ อย่างที่มันเป็นมา ฉะนั้นการปฏิบัติจึงว่ามันยาก ถึงแม้พวกท่านทั้งหลายจะนั่งมันสงบไปบ้างก็อย่าคิดสรรเสริญมัน มันจะมีความวุ่นวายไปบ้างก็อย่าไปให้โทษมัน ถ้ามันดีก็อย่าพึงไปชอบมัน ถ้ามันไม่ดีก็อย่าไปพึงไปรังเกียจมัน พากันดูไปเถอะ ให้ท่านดูของท่านไป ดูไป อย่าพึงไปว่ามัน ถ้ามันดีก็อย่าพึงไปจับมัน ชั่วก็อย่าพึงไปจับมัน เดี๋ยวมันจะกัดนะ ดีมันก็กัด ชั่วมันก็กัด อย่าพึงไปจับมัน ฉะนั้นการปฏิบัตินี้จึงว่านั่ง นั่นแหละปฏิบัตินั่ง ดูไปมันมีอารมณ์ดีอารมณ์ชั่วสลับซับซ้อนกันไปเป็นธรรมดาของมัน อย่าไปสรรเสริญจิตของเราอย่างเดียว อย่าไปให้โทษมันอย่างเดียว ให้รู้จักกาลรู้จักเวลามัน เมื่อถึงคราวสรรเสริญก็สรรเสริญมันหน่อย สรรเสริญให้พอดีอย่าให้หลงเหมือนกับสอนเด็กนั่นแหละ บางทีก็เฆี่ยนมันบ้าง เอาไม้เรียวเล็กๆ เฆี่ยนมัน ไม่เฆี่ยนไม่ได้ วันนี้บางทีก็ให้โทษมันบ้าง อย่าให้โทษมันเรื่อยไป ให้โทษมันเรื่อยไป มันก็ออกจากทางเท่านั้นแหละ ถ้าให้สุขมันให้คุณมันเรื่อยๆ มันไปไม่ได้ การประพฤติการปฏิบัติไม่ใช่อย่างนั้น เราปฏิบัติไปตามสายกลาง สายกลางคืออะไร สายกลางนี้มันยาก จะเอาจิตของเราเป็นประมาณ จะเอาตัณหาของเราเป็นประมาณไม่ได้

ขอให้เห็นว่าทุกอิริยาบถเป็นการปฏิบัติ

ฉะนั้นการปฏิบัติของท่านทั้งหลายนี้ อย่าพึงถือว่าการนั่งหลับตาอย่างเดียวเป็นการปฏิบัติ เมื่อออกจากนั่งแล้วก็ออกจากการปฏิบัติ อย่าเข้าใจอย่างนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนั้นก็รีบกลับมาเสีย ที่เรียกว่าการปฏิบัติสม่ำเสมอคือเราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ให้มีความรู้สึกอยู่อย่างนั้น เมื่อเราจะออกจากสมาธิก็อย่าเข้าใจว่าออกจากสมาธิเพียงแต่เปลี่ยนอิริยาบถเท่านั้น ถ้าท่านทั้งหลายคิดอย่างนี้ก็จะสุขใจ เมื่อท่านไปทำงานอยู่ที่ไหน ไปทำอะไรอยู่ก็ดี ท่านจะมีการภาวนาอยู่เสมอ มีเรื่องติดใจ มีความรู้สึกอยู่เสมอ

ถ้าหากท่านองค์ใดตอนเย็นๆ ก็มานั่ง เมื่อออกจากสมาธิแล้วก็เรียกได้ว่าออกแล้วไม่มีเยื่อใย ออกไปเลย ส่งอารมณ์ไปเลย ตลอดทั้งวันก็ปล่อยอารมณ์ ตามอารมณ์ไปไม่มีสติ เย็นต่อไปนึกอยากจะนั่ง พอไปนั่งปุ๊บก็มีแต่เรื่องใหม่ทั้งนั้นเข้ามาสุมมัน ปัจจัยเรื่องเก่าที่มันสงบไม่มี เพราะทิ้งมันไว้ตั้งแต่เช้า มันก็เย็นนะซิ ทำอย่างนี้เรื่อย มันก็ยิ่งห่างไปทุกปีๆ

อาตมาเห็นลูกศิษย์บางองค์ ก็ถามว่า “เป็นยังไงภาวนา” เขาตอบ “เดี๋ยวนี้หมดแล้วครับ” นี่ เอาสักเดือนสองเดือนยังอยู่ พอสักปีสองปีมันหมดแล้ว ทำไมมันหมด ก็มันไม่ยึดหลักอันนี้ไว้ เมื่อนั่งแล้วก็ออกจากสมาธิ ทำไปๆ นั่งน้อยไปทุกทีๆ นั่งเดี๋ยวเดียวก็อยากออกนั่งประเดี๋ยวก็อยากออก นานๆ เข้าก็ไม่อยากจะนั่งเลยเหมือนกับการกราบพระ เมื่อเวลาจะนอนก็อุตส่าห์กราบ กราบไปเรื่อยๆ บ่อยๆ นานๆ ใจมันห่างแล้ว ต่อไปไม่ต้องกราบ ดูเอาก็ได้ นานๆ ก็เลยไม่กราบ ดูเอาเท่านั้นแหละ มันจะส่งเราออกนอกคอกไม่รู้เรื่องอะไรนี่ ให้เราทั้งหลายรู้ว่ามีสติ มีไว้ทำไม ให้เป็นศึกษาสม่ำเสมออย่างนั้น


การปฏิบัตินี้จึงเป็นการปฏิบัติสม่ำเสมอ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอนมันเป็นของมันเสียจริงๆ คือการทำเพียร การภาวนา มันเป็นที่จิตไม่ใช่เป็นที่กายของเรา จิตของเรามันเลื่อมใสอยู่ จิตของเรามันตรงอยู่ มันมีกำลังอยู่ มันรู้อยู่ที่จิตนั้น จิตนั้นมันเป็นสิ่งสำคัญมาก การยืน การเดิน การนั่ง การนอน อิริยาบถทั้งหลายนั้นมารวมที่จิต จิตเป็นตัวรับภาระการงานมากเหลือเกิน เกือบทุกสิ่งทุกส่วน

เมื่อมีสติ จิตใจจักสงบได้ง่าย

ฉะนั้นเมื่อเราเข้าใจถูกมันก็ทำถูก เมื่อทำถูกแล้วมันก็ไม่ผิด ถึงทำแต่น้อยมันถูกน้อย เช่นว่าเมื่อเราออกจากสมาธิแล้วก็รู้สึกว่าวันนี้เรายังไม่ออก เราเปลี่ยนอิริยาบถมันตั้งอยู่อย่างเก่านั่นแหละ จะยืน จะเดิน จะเหินไปมามันก็มีสติอยู่สม่ำเสมอ ถ้าเรามีความรู้อย่างนั้น กิจธุระภายในใจของเราก็ยังมีอยู่ ถ้าเรานั่งตอนเย็นวันใหม่มา นั่งลงไป มันก็เชื่อมกันได้ มันก็มีกำลังมิได้ขาด มันเป็นอย่างนั้น มันก็ต้องสงบ ติดต่อกันอยู่อย่างนั้น อันนี้เรียกว่าปฏิปทาสม่ำเสมอ ในจิตนั้น ถ้าจิตใจของเรามีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอแล้ว สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นไปเอง มันค่อยๆ เป็นไปเอง จิตใจมันจะสงบก็เพราะจิตใจมันรู้จักผิดถูก มันรู้จักเหตุการณ์ของมัน มันถึงจะสงบได้


เช่นว่าศีลก็ดี สมาธิก็ดี จะดำเนินอยู่ได้มันก็ต้องมีปัญญา บางคนเข้าใจว่าปีนี้ผมจะตั้งใจรักษาศีล ปีหน้าจะทำสมาธิ ปีต่อไปจะทำปัญญาให้เกิด อย่างนี้เป็นต้น เพราะเข้าใจว่ามันคนละอย่างกัน ปีนี้จะทำศีล ใจไม่มั่นจะทำได้อย่างไร ปัญญาไม่เกิดจะทำได้อย่างไร มันก็เหลวทั้งนั้นแหละ ความเป็นจริงนั้นมันก็อยู่ในจุดเดียวกัน ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี เมื่อเรามีศีลขึ้นมา สมาธิก็เกิดขึ้นเท่านั้น สมาธิเราเกิดขึ้นมา ปัญญามันก็เกิดเท่านั้น มันเป็นวงกลมครอบกันอยู่อย่างนี้ มันเป็นอันเดียวกัน เหมือนมะม่วงใบเดียวกัน เมื่อมันเล็กมันก็เป็นมะม่วงใบนั้น เมื่อมันโตมามันก็เป็นมะม่วงใบนั้น เมื่อมันสุกมามันก็เป็นมะม่วงใบนั้น ถ้าเราคิดกันง่ายๆ อย่างนี้ มันก็เป็นธรรมะที่เราต้องปฏิบัติ ไม่ต้องเรียนอะไรมากมาย ให้เรารู้มันเถิด รู้ตัวจริงสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ รู้ข้อปฏิบัติของตัวเอง


การทำสมาธิ จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวเรา

ฉะนั้นการทำสมาธินี้ บางคนไม่ได้ตามปรารถนาแล้วก็เลิกก็หยุด หาวาตนไม่มีบุญวาสนา แต่ว่าไปทำชั่วได้ บารมีชั่วทำได้ บารมีดีๆ ทำไม่ค่อยได้ เลิกเลย ปัจจัยมันน้อย มันเป็นกันเสียอย่างนี้แหละ พวกเราไปเข้าข้างแต่อย่างนั้นล่ะ ดังนั้นเมื่อท่านมีโอกาสมาประพฤติปฏิบัติแล้ว ถึงแม้ว่าสมาธิมันทำยาก หรือมันทำง่าย หรือไม่ค่อยเป็นสมาธิ มันก็เป็นเพราะเรา ไม่ใช่เป็นเพราะสมาธิ มันเป็นเพราะเราทำไม่ถูกมัน ฉะนั้นการทำเพียรนี้ท่านจึงได้ว่าเป็นสัมมาทิฎฐิ รู้มันเสียก่อนว่าเป็นสัมมาทิฎฐิ ความเห็นชอบ เมื่อความเห็นชอบอะไรมันก็ชอบไปหมด สัมมาทิฎฐิ สัมมาสังกับโป สัมมากัมมันโต สัมมาทุกอย่าง ทั้ง 8 ประการนั้น มีสัมมาทิฎฐิเกิดขึ้นอันเดียวเท่านั้น มันก็เชื่อมกันไปเลย สม่ำเสมอกันไปเรื่อยๆ มันเป็นอย่างนั้น

อ่านใจตนเองสำคัญกว่าการอ่านหนังสือ

อย่างไรก็ตามเถอะ อย่าไปไล่มันออกไปข้างนอกเลย ให้มันดุข้างในอย่างนี้ดีกว่า มันเห็นชัด อย่าพึงไปอ่านข้างนอก ทางที่ดีที่สุดนั้นตามความเข้าใจผมนะ ไม่อยากจะให้อ่านหนังสือเลย เอาหนังสือใส่หีบปิดให้มันดีเสีย อ่านใจของตนเท่านั้น ที่เราดูหนังสือมานี้ก็ตั้งแต่วันขึ้นโรงเรียน มาเรียนกันทั้งนั้น ดูแต่หนังสือกันจะเป็นจะตาย ผมว่ามันมีโอกาส ที่เวลามากเหลือเกิน เวลาเช่นนี้เอาหนังสือใส่หีบปิดให้มันดีเสียเลย อ่านใจเท่านั้นแหละ เมื่อมันเกิดอะไรขึ้นมาในใจของเรานี่ มันเกิดเป็นอารมณ์ขึ้นมา ที่เราชอบใจไม่ชอบใจก็ตาม เราเห็นว่ามันผิดมันถูกก็ตามเถอะ ให้เราตัดมันไปเลยว่าอันนี้มันไม่แน่ จะเกิดอะไรขึ้นมาก็ช่างมันเถอะ สับมันลงไป ไม่แน่ๆ อย่างเดียว ขวานเล่มเดียวสับมันลงไป “ไม่แน่” ทั้งนั้นแหละ

มองให้เห็นว่า “มันเป็นอย่างนั้นเอง”

ตลอดในเดือนหนึ่งที่มาพักอยู่ในวัดป่านี้ อาตมาว่ามันมีกำไรมากเหลือเกิน จะได้เห็นของจริง ตัวไม่แน่คือตัวสำคัญนะ ตัวให้เกิดปัญญานะ ยิ่งตามมันไม่แน่ ตัวไม่แน่ที่สับมันไป มันจะเวียนไปเวียนไปแล้วมาพบอีก เออ ไม่แน่จริงๆ มันโผล่มาเมื่อไรเอาป้ายปิดหน้ามันไว้ มันไม่แน่ ติดป้ายมันไว้ปุ๊บ มันไม่แน่ ดูไปๆ เดี๋ยวมันก็เวียนมาอีก เวียนมาครบรอบ เออ...อันนี้ไม่แน่ ขุดเอาตรงนั้นมันก็ไม่แน่ เห็นคนๆ เดียวกันที่มาหลอกเราอยู่กระทั่งเดือน กระทั่งปี กระทั่งเกิด กระทั่งตาย คนๆ เดียวมาหลอกเราอยู่เท่านั้น เราจะเห็นชัดอย่างนี้ มันจะเห็นว่า อ้อ มันเป็นอย่างนั้นเอง

เมื่อเราไม่หลงอารมณ์ เราก็ไม่หลงโลก

ทีนี้เมื่อมันเป็นอย่างนั้น เราก็ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ทั้งหลาย เพราะว่ามันไม่แน่ เคยเห็นไหมดุซิ นาฬิกาเรือนนี้ แหมสวยเหลือเกิน ซื้อมาเถอะ ไม่กี่วันก็เบื่อมันแล้ว ไม่กี่เดือนก็เบื่อมันแล้ว เสื้อตัวนี้ซื้อมา ชอบมันเหลือเกิน ก็เอามาใส่ไม่กี่วัน ทิ้งมันเสียแล้ว มันเป็นอยู่อย่างนี้ มันแน่ที่ตรงไหนล่ะ นี่ถ้าเห็นมันไม่แน่ทุกสิ่งทุกอย่างราคามันก็น้อยลง อารมณ์ทั้งหลายนั้นเป็นอารมณ์ที่ไม่มีราคาแล้ว ของที่ไม่มีราคาแล้วเราจะเอาไปทำไม เก็บมันไว้ก็เหมือนผ้าเราขาดก็เอามาเช็ดหม้อข้าว เอามาเช็ดเท้าเท่านั้น เห็นอารมณ์ทั้งหลายมันก็สม่ำเสมอกันอย่างนั้น เมื่อเราเห็นอารมณ์ทุกอย่างเป็นเช่นนั้น เราก็เห็นโลก โลกนั้นคืออารมณ์ อารมณ์นั้นก็คือโลก เราไม่หลงอารมณ์ก็ไม่หลงโลก ไม่หลงโลกเราก็ไม่หลงอารมณ์ เมื่อจิตเป็นเช่นนี้ จิตก็มีที่อาศัย จิตก็มีรากฐาน จิตก็มีปัญญาหนาแน่น จิตอันนี้จะมีปัญญาน้อย แก้ปัญหาได้ทุกประการ เมื่อปัญหามันหมดไป ความสงสัยมันก็หมดไป อย่างนี้ความสงบมันก็ขึ้นมาแทน อันนี้เรียกว่าการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติกันจริงๆ ก็ต้องเป็นอย่างนั้น

ทาน ศีล ภาวนา


รูปภาพ
ทาน ศีล ภาวนา 
พระภูริทัตตเถระ (หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)

จดจารึกโดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (พระญาณสัมปันโน บัว)

ทาน

ทาน คือ เครื่องแสดงน้ำใจของมนุษย์ผู้มีจิตใจสูง ผู้มีเมตตาจิตต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ผู้อาภัพ ด้วยการให้ทานเสียสละแบ่งปันมากน้อยตามกำลังของวัตถุเครื่องสงเคราะห์ที่มีอยู่ จะเป็นวัตถุทาน ธรรมทาน หรือวิทยาทานแขนงต่างๆก็ตาม ที่ให้เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นโดยมิหวังค่าตอบแทนใดๆ นอกจากกุศลคือความดีที่เกิดจากทานนั้น ซึ่งจะเป็นสิ่งตอบแทนให้เจ้าของทานได้รับอยู่โดยดีเท่านั้น ตลอดอภัยทานที่ควรให้แก่กัน ในเวลาอีกฝ่ายผิดพลาดหรือล่วงเกิน

คนมีทานหรือคนที่เด่นในการให้ทานย่อมเป็นผู้สง่าผ่าเผยและเด่นในปวงชน ผู้เช่นนี้มนุษย์และสัตว์ตลอดเทวดาก็เคารพรัก จะตกทิศใดแดนใดย่อมไม่อดอยากขาดแคลนหากมีสิ่งหรือผู้อุปถัมภ์จนได้ไม่อับจนทนทุกข์ แม้ในแดนมนุษย์เรานี้ก็พอเห็นได้อย่างเต็มตารู้ได้อย่างเต็มใจว่า ผู้มีทานเป็นเครื่องประดับตัวย่อมเป็นคนไม่ล้าสมัยในสังคม และบุคคลทุกชั้นไม่มีใครรังเกียจ

อำนาจทาน ทำให้ผู้มีใจบริจาคเกิดความเคยชินต่อนิสัยจนกลายเป็นผู้มีฤทธิ์ บันดาลไม่ให้อดอยากในภพที่เกิด กำเนิดที่อยู่นั้นๆ ฉะนั้น ทานและคนที่มีใจเป็นนักให้ทานเสียสละ จึงเป็นผู้ค้ำจุนโลกให้เฟื่องฟูตลอดไป โลกที่มีการสงเคราะห์กันอยู่ ยังจัดเป็นโลกที่มีความหมายตลอดไป

ทานจึงเป็นสาระสำคัญสำหรับตัวและโลกทั่วๆ ไป ผู้มีทานย่อมเป็นผู้อบอุ่นและหนุนโลกให้ชุ่มเย็น
ไม่เป็นบุคคลและโลกที่แห้งแล้งแข่งกับทุกข์ตลอดไป


ศีล

ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเมตตาสั่งสอนฆราวาสให้รู้คุณของศีล และรู้โทษของความไม่มีศีล
ว่า ศีล คือ รั้วกั้นความเบียดเบียน และทำลายร่างกายและจิตใจของกันและกัน ศีลคือพืชแห่งความดีอันยอดเยี่ยมที่ควรมีประจำชาติมนุษย์ไม่ปล่อยให้สูญหายไปเสีย เพราะมนุษย์ที่ไม่มีศีลเป็นรั้วกั้นและเป็นเครื่องประดับตัว ก็คือกองเพลิงแห่งมนุษย์เราดีๆ นี่เอง

การเบียดเบียนทำลายกันย่อมเป็นไปทุกย่อมหญ้า และทั่วโลกดินแดน ไม่มีเกาะมีดอนพอจะเอา
ศีรษะซุกนอนให้ปลอดภัย แม้โลกจะเจริญด้วยวัตถุจนกองสูงกว่าพระอาทิตย์บนท้องฟ้า แต่ความรุ่มร้อนแผดเผาจะทวีคูณยิ่งกว่าพระอาทิตย์เป็นไหนๆ โลกจะไม่มีที่ปลงใจได้เลย ถ้ายังมัวคิดว่าวัตถุมีค่ามากกว่าศีลธรรม

เพราะศีลธรรมเป็นสมบัติของจอมมนุษย์คือพระพุทธเจ้า ผู้ค้นพบและนำมาประดับโลกที่กำลังมืดมัวกลัวทุกข์ พอให้สว่างไสวร่มเย็นควรให้อาศัยได้บ้างด้วยอำนาจศีลธรรมเป็นเครื่องปัดเป่ากำจัด
ศีลจึงเป็นเหมือนยาปราบโรคทั้งโรคระบาดและโรคเรื้อรัง อย่างน้อยก็พอให้คนไข้ที่สุมด้วยกิเลสกินอยู่หลับนอนได้บ้าง ไม่ถูกบีบคั้นด้วยโรคที่เกิดแล้วไม่ยอมหายนี้ตลอดไป มากกว่านั้นโรคนี้ก็หายขาดอยู่สบาย

คำว่าศีลแท้จริงเป็นไปด้วยความมีสติ รู้สิ่งที่ควรหรือไม่ควร ระวังการระบายออกทางทวารทั้งสาม
คอยบังคับกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปในขอบเขตของศีลที่เป็นสภาพปกติ ไม่คะนองกาย วาจา ใจ

อานิสงส์ของการรักษาศีล ๕
๑. ทำให้อายุยืนปราศจากโรคภัยเบียดเบียน
๒. ทรัพย์สมบัติที่อยู่ในความปกครอง มีความปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย
๓. ระหว่าง ลูก หลาน สามี ภรรยา อยู่ด้วยกันผาสุก ไม่มีผู้คอยล่วงล้ำกล้ำกราย
ต่างครองอยู่ด้วยความเป็นสุข
๔. พูดอะไรมีผู้เคารพเชื่อถือ คำพูดมีเสน่ห์เป็นที่จับใจไพเราะด้วยสัตย์ด้วยศีล
๕. เป็นผู้มีสติปัญญาดีเฉลียวฉลาด


ภาวนา

ภาวนา คือ การอบรมใจให้ฉลาดเที่ยงตรงต่อเหตุผล อรรถธรรมรู้จักวิธีปฏิบัติต่อตนเองและสิ่งทั้งหลาย ไม่ให้จิตผาดโผนโลดแล่นแบบไม่มีฝั่งมีฝา ยึดการภาวนาเป็นรั้วกั้นความคิดฟุ้งของใจให้อยู่ในเหตุผล อันจะเป็นหนทางแห่งความสงบสุขใจที่ยังมิได้รับการอบรมจากภาวนา

ใจควรได้รับรู้ในเรื่องของตัวเองเสียบ้าง จะเป็นผู้ควรแก่การงานทั้งหลาย ทั้งส่วนหยาบส่วนละเอียด ทั้งส่วนเล็กส่วนใหญ่ ทั้งภายในและภายนอก ผู้มีภาวนาเป็นหลักใจจะทำอะไรชอบใช้ความคิดอ่านเสมอ ไม่ค่อยเอาตัวเข้าไปเสี่ยงต่อการกระทำที่ไม่แน่ใจ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตนและผู้เกี่ยวข้องตลอดส่วนรวม

การภาวนาจึงเป็นงานเพื่อผลในปัจจุบันและอนาคต ไม่เสียประโยชน์ทั้งสองทาง ประโยชน์สำคัญคือประโยชน์เฉพาะหน้าที่เรียกว่า “ทิฎฐธรรมมิกัตถประโยชน์” การทำงานทุกชนิดที่ทำด้วยใจของผู้ภาวนาจะสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย ขณะที่ทำก็ไม่ทำแบบขอไปที แต่ทำด้วยความใคร่ครวญและเล็งถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากงานเมื่อสำเร็จลงไปแล้ว

โดย พระภูริทัตโต (หลวงปู่มั่น) 

ความสุขจากการให้อภัย



“ ผู้ที่อ่อนแอไม่สามารถให้อภัยใครได้ เพราะการให้อภัยได้นั้นนับเป็นความเข้มแข็งแท้จริง ”

มหาตมะคานธี



มาลองช่วยกันพิจารณาข้อความนี้นะครับ

หากคุณให้ความรัก ความไว้วางใจ ช่วยเหลือใครสักคน แต่ภายหลังเขากลับไปคบคิดกับคนอื่นให้ร้ายคุณ พูดถึงคุณในทางที่เสียหาย จนคุณต้องได้รับความอับอาย คุณจะให้อภัยเขาคนนั้นได้ไหม

1. ให้อภัยได้ ถ้าคนนั้นได้รับโทษอย่าสาสมเสียก่อน

2. ให้อภัยได้ เพราะเป็นสิ่งดีที่จะให้อภัย ดังเช่นที่พ่อแม่ หรือศาสนาสั่งสอนมา

3. ให้อภัยได้ เพราะจะช่วยให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

4. ให้อภัยได้ เพราะเป็นการแสดงออกของความรักที่ไม่มีเงื่อนไข

คุณจะเลือกข้อใดที่ตรงใจคุณมากที่สุด

ผมได้ลองถามนักศึกษาแพทย์ปี ๕ ที่เรียนวิชาจิตเวชศาสตร์อยู่รวม ๓๓ คน คำตอบที่ได้จากลูกศิษย์แพทย์กลุ่มนี้น่าสนใจทีเดียวครับมีตอบข้อหนึ่งอยู่ ๑๓ คน ตอบข้อสองอยู่ ๑๒ คน ตอบข้อสามอยู่ ๕ คน และตอบข้อสี่อีก ๓ คน ที่กล่าวมานี้คงไม่ถึงกับเป็นโพลสำรวจนะครับ เพียงอยากจะให้เห็นว่าคนเราแต่ละคนมีมุมมองในเรื่องการให้อภัยที่แตกต่างกันมาก

มนุษย์มีแนวโน้มในจิตใจแต่กำเนิดที่จะโต้ตอบทางลบมากขึ้นต่อคนที่แสดงออกทางลบต่อเรา ธรรมชาตินี้เองเป็นที่มาของการแก้แค้นกันและตอบโต้กันจนไม่รู้จบสิ้น สิ่งนี้เกิดจากอะไร นอกจากมนุษย์แล้ว สิ่งมีชีวิตอื่นมีพฤติกรรมการแก้แค้นเช่นมนุษย์หรือไม่ จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบปรากฏการณ์ของการแก้แค้น เกิดขึ้นได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชั้นสูงบางชนิดด้วย เช่น ลิงชิมแปนซี และพบต่ออีกว่า เมื่อการแก้แค้นเกิดขึ้น การกระทำนั้นมักจะมีความรุนแรงมากกว่าที่ถูกกระทำในตอนแรก จึงมีแนวโน้มให้เกิดวงจรการล้างแค้น ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราพบเห็นตัวอย่างการโต้ตอบที่รุนแรงมากมายในสงครามและประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ การให้อภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยตัดและลดทอนการแก้แค้น ซึ่งมีแต่จะเพิ่มความสูญเสียทั้งสองฝ่าย

พัฒนาการ ของการให้อภัยผู้อื่น เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางจิตใจด้วย พบว่า คนเราสามารถให้อภัยได้มากขึ้นตามอายุ คือคนในวัยสูงอายุจะให้อภัยผู้อื่นได้ง่ายกว่าคนในวัยผู้ใหญ่และมากกว่าคนในวัยรุ่น ซึ่งน่าจะสะท้อนถึงโลกทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปในคนที่ผ่านชีวิตมานานกว่า มีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น นอกจากนี้พัฒนาการของการให้อภัยยังมีลักษณะที่เป็นลำดับขั้นเหมือนที่มนุษย์เรามีพัฒนาการทางร่างกาย จากคลานเป็นนั่ง จนถึงการยืนและเดินตามลำดับ คือใน ขั้นต้น การให้อภัยจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้ที่กระทำผิดได้รับการล้างแค้นหรือการลงโทษอย่างสาสมเสียก่อน ขั้นกลาง คือ การให้อภัย เป็นสิ่งควรทำเนื่อง จากเป็นสิ่งที่สังคมและคำสั่งสอนของพ่อแม่หรือศาสนาสอนไว้ ในขั้นสูงคือ การให้อภัยควรทำเพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคมและในขั้นสูงสุดคือเป็นการแสดงออกของความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ( Unconditional love )

ความจริงแล้วการให้อภัยกลับกลายเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ที่ให้อภัยเอง เพราะการให้อภัยคือการปลดปล่อยตนเองจากซากอดีตที่เจ็บปวดเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ดังที่ คอร์รี่ เทน บูม ( Corrie ten Boom ) ผู้ช่วยเหลือชาวยิวจากค่ายกักกันของนาซีได้กล่าวว่า “ การให้อภัยคือการปลดปล่อยนักโทษ และนักโทษผู้นั้นก็คือคุณนั่นเอง ” และจากประสบการณ์ตรงของเธอเองที่ได้บันทึกไว้ว่า “ ในท่ามกลางเหยื่อที่ถูกนาซีทำทารุณกรรมนั้น ผู้ที่สามารถสร้างชีวิตใหม่ได้ดีและสามารถดำรงชีวิตที่เป็นสุขได้คือ ผู้ที่สามารถให้อภัยต่อความเลวร้ายเหล่านั้น ”

ผลดีอีกประการคือผู้ที่มักให้อภัยผู้อื่นได้ง่ายจะมีความเป็นปฏิปักษ์น้อย ไม่หลงตัวเอง ไม่ชอบครุ่นคิดวนเวียน เป็นคนที่มีนิสัยพูดง่าย ไม่เรื่องมาก ทำให้กังวลและซึมเศร้าน้อยกว่า ป่วยเป็นโรคประสาทน้อยกว่า มีลักษณะที่เข้าอกเข้าใจผู้อื่นมากกว่า การให้อภัยจึงเป็นเสมือนภูมิคุ้มกันโรคทางจิต เพิ่มสุขภาพจิตที่ดีสำหรับตัวผู้ให้อภัยนั้นเอง ผมจึงอยากชวนท่านผู้อ่านได้ทบทวนไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งและตั้งใจอย่างแน่วแน่ เพื่อที่จะช่วยกันปลดปล่อยความเคืองแค้นที่ยังฝังใจ เพื่อให้จิตใจได้รับอิสรภาพและเกิดความสุขสงบทางใจ

การที่จะให้อภัยแก่บุคคลผู้ที่เคยทำให้เราเจ็บปวด แม่ชีเทเรซ่าสอนว่า

“ เพื่อที่จะให้อภัยใครบางคนที่ทำให้เราปวดร้าว เพื่อที่จะเริ่มต้นใหม่กับผู้ที่เคยทำให้เราผิดหวัง เพื่อที่จะคงความเสียสละไว้แม้เคยถูกหลอกลวง เหล่านี้แม้หากจะเจ็บปวด แต่เป็นการให้อภัยและเป็นรักที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว ”

Secret Box

การให้อภัยเป็นเครื่องพัฒนาการของจิตใจ

• การให้อภัยที่สูงที่สุดเป็นการแสดงออกของความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข

• จงเริ่มด้วยการตั้งจิตที่แน่วแน่ในการให้อภัยใครบางคนที่เคยทำให้เราเจ็บปวด

• การให้อภัยจะนำให้เกิดอิสรภาพและความสุขในชีวิต


บทความจากนิตยสารซีเคร็ต

พระอรหันห์ตอบแทนคุณ


พระสารีบุตรแรกเกิดชื่อว่า “อุปติสสะ” เป็นบุตรของนางพราหมณีชื่อสารี และพราหมณ์ชื่อวันคันตะ ผู้เป็นหัวหน้าหมู่บ้านอุปติสคามแห่งตำบลนาลกะหรือนาลันทะ ในวันเดียวกันวันที่นางพราหมณีสารีให้กำเนิดอุปติสสะนั้นมีครอบครัวข้างเคียงให้กำเนิดบุตรชื่อว่า “โกลิตะ” หรือเมื่อต่อมาพระมหาโมคัลลานะเมื่อเจริญเติบโตขึ้นก็ได้มาเป็นเพื่อนสนิทกัน 

วันหนึ่งอุปติสสะและโกลิตะได้ช่วนกันไปเที่ยวในงานรื่นเริงประจำปีในกรุงราชคฤห์ ขณะชมมหรสพอยู่นั้นเกิดความสลดใจขึ้นมาอย่างเดียวกันว่ากิจกรรมนี้ชั่งไร้สาระสิ้นดี หาสาระอะไรไม่ได้เลยควรจะหาสิ่งใดเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและหลุดพ้นจากบ่วงเช่นนี้ ต่อมาสองสหายได้ไปมอบตัวเป็นศิษย์ของสำนักทางปรัชญาผู้มีชื่อเสียง นามว่า สัญชัย เวลัฏฐบุตร 

เช้าตรู่วันที่พระอัสสะชิหนึ่งในปัญจวัคคีย์ที่บรรลุพระอรหันต์แล้วห่มจีวรถือบาตรไปสู่กรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาท อุปติสสะเมื่อพบพระอัสสะชิเถระเกิดความประทับใจในพระอิริยาบทที่สำรวมและน่าเลื่อมใสของพระอัสสะชิผู้มีอินทรีย์ฝึกมาดีแล้วจึงเกิดคิดว่าท่านผู้นี้จักต้องเป็นพระอรหันต์ จึงได้ตามพระอัสสะชิไปข้างหลังและรอคอยโอกาสที่เหมาะสม แล้วจึงสอบถามพระเถระพระอัสสะชิเถระได้แสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าธรรมเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้นและความดับแห่งธรรมเหล่านั้นพระมหาสมณเจ้ามีปกติตรัสอย่างนี้ครั้นเมื่ออุปติสสะและโกลิตะได้ชวนกันไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อมาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานการอุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิขุอุสัมปทา และทรงบัญญัตินามให้อุปติสสะว่าพระสารีบุตรและโกลิตะว่าพระโมคคัลลานะ ซึ่งต่อมาพระสารีบุตรได้รับการยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นพระธรรมเสนาบดีอัครสาวกเบื้องขวาส่วนพระโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธองค์ 

พระสารีบุตรมีน้องชาย ๓ คน และน้องสาวอีก ๓ คน ภายหลังพระสารีบุตรได้ชวนน้องทั้งหกคนออกบวช คือ พระจุนทะ พระเรวตะ พระอุปเสนะ และน้องสาว คือ พระจาลาเถรี พระอุปจาลาเถรี และพระสีสุปจาลาเถรี การที่พระสารีบุตรชวนน้องทั้งหกคนบวชนั้นเป็นเหตุให้นางพราหมณีสารีผู้เป็นมารดานั้นไม่ค่อยพึงพอใจนัก เพราะคิดว่าทอดทิ้งนางออกไปบวช ประกอบกับนางสารีพราหมณีเป็นผู้ที่มีทิฐิมานะแรงจึงไม่ค่อยชื่นชมและเชื่อถือพระลูกชายนับแต่พระสารีบุตรได้ฟังธรรมเทศนาที่พระอัสสชิแสดงจนบรรลุโสดาบันแล้วได้มาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาท่านก็ได้นับถือพระอัสสชิเป็นพระอาจารย์ทำการเคารพอยู่เสมอแม้ได้ยินข่าวว่าพระอัสสชิอยู่ทิศใด เมื่อจะนอน ท่านจะนมัสการไปทิศนั้นก่อนแล้วนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น 

อีกตัวอย่างหนึ่งของความกตัญญูของพระสารีบุตรก็คือ พราหมณ์ชื่อ ราธะ มีศรัทธาจะอุปสมบท แต่ไม่มีภิษุรูปใดรับเป็นพระอุปัชฌาย์ให้ พระตรัสถามในที่ประชุมสงฆ์ว่าผู้ใดระลึกถึงอุปการะของพราหมณ์ผู้นี้ได้บ้างพระสารีบุตรเถระกราบทูลว่า ระลึกได้ คือครั้งหนึ่งราธพราหมณ์ผู้นี้ได้เคยใส่บาตรด้วยข้าวสุกแก่ข้าพระพุทธเจ้าหนึ่งทัพพี พระพุทธองค์จึงมอบให้พระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์ อุปสมบทให้แก่ราธพราหมณ์ 

อีกตัวอย่างหนึ่งของความกตัญญูรู้คุณของพระสารีบุตร คือ การไปตอบแทนคุณมารดาด้วยการกลับไปนิพพาน ณ ห้องที่ท่านเกิดที่บ้านของท่าน ตอนแรกที่นางสารีพราหมณีทราบว่าพระลูกชายกลับมาบ้าน โดยนางไม่รู้ว่าพระสารีบุตรมีความต้องการจะตอบแทนคุณมารดาด้วยการเทศนาธรรม และนางไม่เชื่อว่าพระลูกชายเป็นพระอรหันต์ เมื่อพระสารีบุตรพร้อมด้วยพระจุนทะพระน้องชายพร้อมบริวารเข้าไปในสถานที่ที่โยมมารดาให้คนจัดให้ตามประสงค์แล้วตกดึกพระสารีบุตรก็ป่วยด้วยโรคปักขันทิกาพาท(ถ่ายจนเป็นเลือด)อย่างปัจจุบันทันด่วน ท่านได้รับทุกขเวทนาอย่างมากพระจุนทะและบริวารช่วยกันดูแลอย่างใกล้ชิดฝ่ายมารดาเห็นว่าท่านอาพาธหนักถึงเข้ามาดูอาการด้วยความห่วงใย ขณะนั้นเทวดาองค์สำคัญๆ ต่างมาเยี่ยมอาการป่วยของท่านตามลำดับคือ ท้าวมหาราชทั้งสี่ ได้แก่ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์ ท้าววิรุฬหก และท้าวเวสสุวัน ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์ )ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวสุยามผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นยามา ท้าวสันดุสิตผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นดุสิต ท้าวสุนิมมิตผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นนิมมานรดีและท้าวปรนิมมิตวสวัตดี เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้น ปรนิมมิตวสวัตดีรวมทั้งท้าวมหาพรหมแห่งพรหมโลกชั้นสุทธาวาส ก็ได้มาเยี่ยมอาการป่วยของท่านด้วย เทวดาและท้าวมหาพรหมแต่ละองค์นั้นล้วนมัศมีกายเปล่งปลั่งงดงาม ต่างพามาเยี่ยมอาการป่วยของท่านด้วยความเป็นห่วงและเคารพยิ่ง นางสารีเห็นเหตุการณ์นั้นตลอด เมื่ออาการของพระเถระค่อยบรรเทาลง นางได้เข้าไปหาแล้วสนทนาด้วย โดยได้ถามถึงเทวดาองค์สำคัญๆ ที่มาเยี่ยมซึ่งนางไม่ทราบว่าเป็นใคร ท่านได้บอกให้โยมมารดาทราบตามลำดับจนกระทั่งถึงท้าวมหาพรหม 

“อุปติสสะ” โยมมารดาเรียกชื่อเดิมของท่านด้วยความอัศจรรย์ใจ “นี่ลูกของแม่ใหญ่กว่าท้าวมหาพรหมอีกหรือ” 
“ใช่...โยมแม่” ท่านตอบรับ ทันใดนั้นโยมแม่ก็เกิดปีติอย่างใหญ่หลวง สีหน้าอิ่มเอิบเมื่อได้ทราบว่าพระลูกชายยิ่งใหญ่กว่าท้าวมหาพรหมที่ตนเคารพ 
“อุปติสสะลูกชายเรายิ่งใหญ่ขนาดนี้แล้วพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดาของลูกชายเราเล่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหน” นางนางสารีคิดไปถึงพระพุทธเจ้า 
พระสารีบุตรสังเกตดูโยมมารดาตลอดเวลา เมื่อเห็นจิตจิตใจเริ่มอ่อนโยนเหมาะจะรับน้ำย้อม คือ คำสอนทางพระพุทธศาสนาได้ จึงเริ่มแสดงธรรมโปรดโดยพรรณนาถึงพระพุทธคุณนานาประการ อาทิ พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระอรหันต์ห่างไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง โยมมารดาฟังแล้วเลื่อมใสยิ่งนักเมื่อจบฟังธรรมเทศนานางก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล พระเถระได้ตอบแทนคุณโยมมารดาด้วยการตอบแทนที่ล้ำค่า คือให้พ้นความเห็นผิดที่มีมานานเสียได้ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญเช่นนั้น ส่วนโยมมารดารู้สึกเสียดายวันเวลาที่ผ่านมาและไม่ได้สัมผัสอมตธรรม จึงพูดกับพระสารีบุตรเป็นเชิงต่อว่า 
“ลูกรักทำไมจึงเพิ่งมาให้อมตธรรมนี้แก่แม่เหล่า” หลังจากโยมมารดาลากลับไปที่พักผ่อนแล้วท่านก็ได้บอกพระจุนทะให้นิมนต์พระบริวารมาประชุมพร้อมกัน ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้สว่างท่านดูอิดโรยเต็มทีแต่ถึงกระนั้นก็พยายามยันกายลุกขึ้นนั่ง โดยพระจุนทะคอยประคองอยู่ตลอดเวลา 
“ท่านทั้งหลาย” พระเถระเอ่ยขึ้นด้วยน้ำแสงแหบพร่า 
“ผมกับท่านอยู่ด้วยกันมานานถึง ๔๔ ปี หากกายกรรมและวจีกรรมของผมอันใดไม่เป็นที่พอใจขอได้อภัยให้ผมด้วย" 
“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ” บริวารกล่าวตอบ “พวกกระผมติดตามท่านมานานยังมองไม่เห็นกายกรรมและวจีกรรมที่ไม่สมควร เมื่อพระเถระกับพระบริวารต่างกล่าวคำขอขมากันและกันแล้ว แสงเงินแสงทองเริ่มจับขอบฟ้าแล้วเช้าวันนั้นเบญจขันธ์เริ่มอ่อนล้าของพระเถระก็ดับลงอย่างสนิท 

ท่านนิพพานเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ ในห้องที่ท่านเกิด เทวดาและมนุษย์ได้พร้อมใจกันฌาปนกิจศพของท่านอย่างสมเกียรติ พระจุนทะนำผ้าขาวมาห่ออัฐิของท่านแล้วนำไปพร้อมทั้งบาตรและจีวร เพื่อมอบให้พระอานนท์นำไปถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงรับอัฐิของท่านแล้วโปรดให้สร้างสถูปบรรจุไว้ที่ใกล้ประตูเชตวันมหาวิหารเพื่อให้พุทธบริษัทได้สักการะต่อไป 

จะสังเกตเห็นว่าพระสารีบุตรนั้นทรงเป็นผู้ที่กตัญญูรู้คุณและปฏิบัติเพื่อตอบแทนคุณด้วยความเคารพและนอบน้อม ทั้งต่อพระอัสสะชิซึ่งเป็นพระอาจารย์ในพระพุทธศาสนาพระองค์แรกของท่านและตอบแทนคุณมารดา ตลอดจนสำนึกรู้คุณและผูกพันต่อบ้านเกิดโดยกลับมาเทศนาธรรมให้มารดาและกลับมานิพพานในห้องที่ท่านเกิด และแม้นิพพานก็ยังสำนึกรู้คุณแก่พระเถระทั้งหลายที่ตามมาร่วมปรนนิบัติ ด้วยการขอขมาหากเคยกระทำล่วงเกินใดๆ ไว้ทั้งๆ ที่มิได้กระทำใดเลย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการสำนึกกตัญญูรู้คุณของพระสารีบุตร เป็นปัญญาที่สูงส่งยิ่ง 

หนังสือพาลานุภาพแห่งความกตัญญู

คุณค่าของบางสิ่ง


อาจารย์มหาวิทยาลัยคนนึง เริ่มการสนทนาในชั้นเรียนด้วยการควักธนบัตรใบละ 1,000 บาท ...... ออกมาให้นักศึกษาดู แล้วถามว่า "มีใครอยากได้บ้างไหม" นักศึกษาทุกคนยกมือขึ้น อาจารย์ขยำธนบัตรนั้น จบยับยู้ยี่......แล้วถามอีกครั้งว่า "มีใครยังอยากได้ธนบัตรใบนี้อีกหรือไม่" ... ทุกคนยังยกมือขึ้นเหมือนเดิม อาจารย์ถามต่ออีกว่า "ถ้าสมมุติว่า ธนบัตรใบนี้ถูกทิ้งอยู่บนพื้น แล้วมีคนมาเหยียบย่ำจนสกปรก ยังจะมีใครอยากได้อีกหรือไม่" นักศึกษาทุกคนตอบว่ายังอยากได้...... อาจารย์จึงกล่าวสรุปว่า "นั้นคือสิ่งมีค่า ที่พวกเธอได้เรียนรู้ในวันนี้ ไม่ว่าจะเธอจะทำอะไรกับธนบัตรใบนี้ มันก็คงยังมีราคา 1,000 บาทเสมอ ชีวิตคนเราก็เช่นเดียวกัน บางครั้ง เราอาจจะถูกทอดทิ้ง ถูกใครต่อใครซ้ำเติม เหยียบย่ำ ถูกขยี้ ยับเยิน เพราะผิดพลาดในการก้าวเดินของชีวิต จนทำให้เธอเกิดความรู้สึกว่าตนเอง ไร้ค่า แต่รู้ไหม ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เธอก็ยังมี คุณค่าของความเป็นคน ไม่ว่าเธอจะสะอาดเอี่ยม หรือยับยู่ยี่ ตัวเรามีค่าที่สุดเสมอ จำไว้

เหนือทุกข์ เหนือสุข



ธรรมโอวาทของ
หลวงปู่ชา สุภัทโท

ความสงบนี้มี สอง ประการคือ ความสงบอย่างหยาบอย่างหนึ่งและความสงบอย่างละเอียดอีกอย่างหนึ่ง

อย่างหยาบ นั่นคือ “เกิดจากสมาธิ” ที่เมื่อสงบแล้วก็มีความสุขแล้ว ถือเอาความสุขเป็นความสงบ

อีกอย่างหนึ่ง คือ “ความสงบที่เกิดจากปัญญา″ นี้ไม่ได้ถือเอาความสุขเป็นความสงบ
แต่ถือเอาจิตที่รู้จักพิจารณาสุขทุกข์เป็นความสงบ” เพราะว่าความสุขทุกข์นี้เป็นภพเป็นชาติเป็นอุปาทานจะไม่พ้นจากวัฏฏสงสารเพราะติดสุขติดทุกข์ ความสุขจึงไม่ใช่ความสงบ ความสงบจึงไม่ใช่ความสุข

ฉะนั้น “ความสงบที่เกิดจากปัญญา″ นั้นจึงไม่ใช่ความสุข แต่เป็นความรู้เห็นตามความเป็นจริงของความสุขความทุกข์แล้วไม่มีอุปาทานมั่นหมายในสุขทุกข์ที่มันเกิดขึ้นมา ทำจิตให้เหนือสุขเหนือทุกข์นั้น ท่านจึงเรียกว่า เป็นเป้าหมายของพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
  
  
  หลวงปู่ชา สุภัทโท

อำนาจอันยิ่งใหญ่แห่งกรรม



อำนาจอันยิ่งใหญ่แห่งกรรม
   
พระนิพนธ์
   
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

    
พ ร ะ ร า ช นิ พ น ธ์ เ พื่ อ ค ว า ม ส วั ส ดี แ ห่ ง ชี วิ ต
   
แ ล ะ พ ร ะ ค ติ ธ ร ร ม เ พื่ อ เ ป็ น แ ส ง ส่ อ ง ใ จ




 พระคติธรรม
   

พระพุทธศาสนาสอนให้เข้าใจในกรรมนั้น ไม่ได้สอนให้คนกลัวกรรม เป็นทาสกรรม หรืออยู่ใต้อำนาจกรรม แต่สอนให้รู้จักกรรม ให้ควบคุมกรรมของตนในปัจจุบัน

คนมีอำนาจเหนือกรรม อาจควบคุมกรรมของตนได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า จะต้องควบคุมจิตเจตนาของตนได้ด้วย โดยตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ในธรรม เช่น เมตตา สติ ปัญญา เป็นต้น อันเป็นส่วนจิต และศีลอันหมายถึงตั้งเจตนาเว้นการที่ควรเว้น ทำการที่ควรทำให้ขอบเขตอันควร
   
ทางพระพุทธศาสนา สอนให้ทุกๆ คนพิจารณาหลักกรรมเนืองๆ เพื่อเป็นผู้ไม่ประมาท พยายามละกรรมชั่ว ประกอบแต่กรรมดี การที่ยังปฏิบัติดังกล่าวไม่ได้ ก็เพราะยังประมาท มิได้พิจารณาในหลักกรรม และไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อในผลของกรรม ต่อเมื่อเป็นผู้ไม่ประมาท และมีศรัทธาเชื่อดังกล่าว จึงจะละกรรมชั่ว ทำกรรมดีได้ตามสมควร
  
   
   : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ที่สุดของทาน คือ ศรัทธา



หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

การ ทำทาน ก็ดี หรือการรักษา ศีล ทำ สมาธิภาวนา หรือ ปัญญา ก็ดีมีที่สิ้นสุด ถ้าไม่มีที่สิ้นสุด
   
พระพุทธศาสนาอันนี้ไม่พ้นจากโลกได้ ที่จะพ้นจากโลกได้เพราะมีที่สิ้นสุด มีหลักเกณฑ์อย่างนี้การทำทาน ด้วย ศรัทธา ความเชื่อมั่นเป็นที่สุด ถ้าไม่มีความเชื่อมั่นแล้ว ทำบุญทำทานเท่าไรก็ทำไปเถอะไม่มีประโยชน์

   
ครั้นเชื่อมั่นความบริสุทธิ์ในใจจริง มีความเชื่อมั่นว่าผลบุญมีผลบาปมี ทำบาปได้บาปทำบุญได้บุญหมดเท่านั้น ลงอันนั้นแล้วก็ลงที่สุดอันนั้นล่ะ ค้นหาไปเถิด ค้นหาไปอย่างไรก็ตามเรื่องให้ทานเรื่องให้ข้าวปลาอาหาร ให้ทานเป็นของสารพัดวัตถุทั้งปวงหมด
   
มาสรุปลงความว่ามี ศรัทธา ความเชื่อมั่น เป็นที่สุดของการทำทาน


วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

จิตบริสุทธิ์กับจิตผ่องใส


หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี

ดูก่อนภิกษุทั้งหลายจิตเดิมนั้นผ่องใส แต่อาศัยกิเลสที่เป็น อาคนฺตุเกหิ กิเลเสหิ กิเลสเข้าจรมา จิตใจจึงมัวหมองท่านว่าอย่างนี้ อ่านไปนี้พวกนักเรียนนี้โต้กันตาดำตาแดง ไอ้เราก็พลอยขึ้นเวทีฟัดกับเขาด้วย ครั้นกลับออกมาก็มีแต่พวกตาบอดทั้งหมด ไม่ได้มีใครได้สาระเป็นที่ระลึกต่อกันเลยนะ

ท่านบอก ดูก่อน ภิกษุทั้งหลายจิตเดิมผ่องใส แต่อาศัยกิเลสที่สัญจรเข้าไปคลุกเคล้ากันแล้วก็แสดงความเศร้าหมองออกมา คือออกมาภายนอก

ทีนี้พวกเรียนทั้งหลาย เมื่อจิตผ่องใสแล้วจะมาเกิดทำไม ผู้ที่ไม่เกิดนั่นคือจิตท่านผ่องใส แล้วจิตผ่องใสมันมาเกิดได้ยังไง ก็อ่านถกเถียงกันนี้ก็ไม่มีใครลงใครแหละ มันไม่รู้ แต่เวลาไปปฏิบัติเข้าละซี นี่ละของจริงเข้าทีเดียวผางหมดเลย ไม่ไปถามใครเลยพอจิตเข้าไปถึง จิตผ่องใสนี้มันควรก็การเกิดอยู่โดยดี นั่นเวลาดูเข้าไปแล้วนะ

จิตบริสุทธิ์กับจิตผ่องใสต่างกัน
พอเข้าถึงความบริสุทธิ์แล้วผึงเลย ไม่มีคำว่าเกิดตายอีก


แต่นี่ ท่านบอกว่า จิตผ่องใส ท่านไม่ได้บอกว่าจิตบริสุทธิ์ ไอ้พวกเอาผ่องใสมาฟัดกันทั้งกัดทั้งแย่งกัน ถ้าเป็นผ้าขี้ริ้วนี้ขาดเลยไอ้ปุ๊กกี้ (หมาที่วัด) มันยังไม่ปล่อยนะ เราถึงได้มารู้เรื่องถึงเรื่องว่าจิตผ่องใสกับจิตบริสุทธิ์ ท่านไม่ได้พูดว่าจิตบริสุทธิ์

ในบาลีก็เห็นแต่ว่า จิตผ่องใส ดูก่อนภิกษุทั้งหลายจิตเดิมแท้ผ่องใสท่านว่างั้น จิตเดิมคือจิตอวิชชา นั่นผ่องใส จิตอวิชชาผ่องใสมากทีเดียว เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติไปถึงขั้นนั้นจึงงงถูกอวิชชาตีหน้าผากได้สบายนะ

มหาสติมหาปัญญาก็เถอะเข้าไปเจอทีแรก ถ้าประเภทพวกทันธาภิญญาที่รู้อย่างเชื่องช้าไปลำดับลำดา เว้นขิปปาภิญญาเสีย อันนี้ไม่มีปัญหาขิปปาภิญญาขาดสะบั้นไปพร้อมเลย

แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร

รูปภาพ


พระโอวาทธรรม วรคติธรรม พระคติธรรม 
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช 

สกลมหาสังฆปริณายก


คนพาลนั้น อาจจะเป็นคนพาลภายในคือตนเองก็ได้ 
กล่าวคือ ตนเองนั้นแหละ เมื่อทำผิด พูดผิด คิดผิด 
ก็ชื่อว่าเป็นพาลเหมือนกัน 
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ให้พิจารณาดูตนให้เป็นอัตตัญญู 
คือรู้ตนว่าเป็นอย่างไร ตนทำผิด พูดผิด คิดผิดหรือไม่ 
ถ้าปรากฏว่าตนเป็นดังนั้น ก็พึงรู้ว่าตนนั้นแหละเป็นพาล

เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ต้องสละการทำผิด พูดผิด คิดผิดนั้นเสีย 
ไม่คบเอาไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ชื่อว่าไม่คบตนเองที่เป็นพาล 
คือสละความเป็นพาลของตนเสีย นี่ก็ชื่อว่าไม่คบคนพาลประการหนึ่งด้วย 

ผู้ชนะมักเข้าใจว่าตัวเองได้ แท้จริงแล้วเสีย
เสียอะไร เสียมิตรไมตรี เสียความรู้สึกที่ดีๆ ของอีกฝ่ายไปจนหมดสิ้น

ที่เรียกว่าได้ก็คือ ได้อัตตา ได้เวรเพิ่มขึ้น
เพราะผู้แพ้ก็จะผูกใจเพื่อจะเอาชนะต่อไป
จึงเป็นอันว่าไม่ได้ความสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ส่วนผู้ที่ละได้ทั้งแพ้ทั้งชนะจึงจะได้ความสงบสุข
ทั้งนี้โดยไม่ก่อเรื่องที่จะต้องเกิดมีแพ้ชนะกันขึ้น



แต่เมื่อจะต้องให้มีเรื่องให้แพ้ฝ่ายหนึ่งชนะฝ่ายหนึ่ง
ก็ควรต้องมีใจหนักแน่นพอที่จะเผชิญผลได้ทุกอย่าง
สามารถที่จะเห็นความจริงว่า แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร
ทั้งนี้ต้องชนะตนเอง คือชนะใจตนเองด้วย 

เหตุใดกิเลสจึงละยาก


รูปภาพ

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช 
สกลมหาสังฆปริณายก


การละกิเลสยากมาก เพราะเหตุใดหรือ แม้พิจารณาให้ดีย่อมได้รับความเข้าใจพอสมควรว่าการละกิเลสยากมาก เพราะพากันไปมุ่งละกิเลสผู้อื่น ไม่มุ่งละกิเลสตนเอง กิเลสจึงท่วมบ้านท่วมเมืองอยู่ทุกวันนี้ จนบดบังแสงแห่งพระพุทธศาสนา แสงแห่งพระธรรมคำทรงสอนในสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ามากขึ้นทุกเวลานาที

อย่าไปมุ่งเพ่งเล็งแก้กิเลสของผู้อื่น แม้ปรารถนาเป็นผู้พ้นทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสเพราะการเพ่งเล็งแก้กิเลสผู้อื่นนั้น นอกจากจะไม่ทำให้กิเลสของตนเบาบางห่างไกลออกไป ยังจะเพิ่มกิเลสของตนให้มากขึ้น

กิเลสของใครคนใด ใครคนนั้นต้องแก้ ไม่ใช่คนอื่นจะไปแก้ให้ได้ สมเด็จพระบรมครูยังทรงมีพระพุทธดำรัสไว้ว่าทรงเป็นผู้ชี้ทางให้ ผู้ปรารถนาแห่งจุดหมายปลายทางต้องปฏิบัติดำเนินไปด้วยตัวเอง

มิได้มีพระพุทธดำรัสไว้ว่า ต้องพากันช่วยพระพุทธองค์ชี้คนอื่นให้เดิน โดยตนเองยังไม่ได้เดินทางสายนั้นจนบรรลุจุดหมายปลายทางแล้ว ผลสำเร็จจะเกิดไม่ได้

ดังนั้นแม้คิดจะไปเพ่งโทษคนอื่น คือคิดไปแก้กิเลสของคนอื่นนั้นเอง ก็พึงมีสติรู้ให้เร็วที่สุดว่ากำลังทำไม่ถูก ที่ถูกคือต้องแก้กิเลสของตนเอง กิเลสของตนเองของทุกคนที่ทุกคนควรแก้ของตนเอง ไม่ใช่ไปมุ่งแก้ของคนอื่น คนนั้นก็ไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ ผิดอย่างนั้น ผิดอย่างนี้ เช่นนี้ไม่มีทางที่ตนจะถึงความสุขได้

:b48: :b48: :b48:

: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

สามมิติของชีวิต - ยาว กว้าง ลึก

รูปภาพ
พระไพศาล วิสาโล

ผู้คนส่วนใหญ่มักอยากให้ชีวิตยืนยาว แต่ชีวิตมิใช่เส้นตรง หากยังมีมิติอื่นๆ ด้วย หากเปรียบชีวิตดังกระแสน้ำ ชีวิตก็ต้องมีอย่างน้อยสามมิติ คือ ยาว กว้าง และลึก ดังนั้น การมีอายุยืนยาวจึงไม่ช่วยให้ชีวิตสมบูรณ์ แต่จะต้องมีความกว้างด้วย นั่นคือ มีจิตใจกว้างขวาง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์รู้สึกเชื่อมโยงกับสรรพชีวิต และรับผิดชอบส่วนรวม ชีวิตที่ยืนยาวแต่ใจแคบจิตเล็ก คิดถึงแต่ตัวเอง ไม่อาทรเพื่อนมนุษย์ หรือไม่สนใจส่วนรวมเลย ย่อมเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ไม่ได้

แต่นอกเหนือจากความกว้างแล้ว ชีวิตที่ดีต้องมีความลึกด้วย นั่นคือมีความลุ่มลึกในจิตใจ สามารถหยั่งถึงความสุขภายใน รวมทั้งประจักษ์แจ้งถึงความจริงที่ลึกซึ้งที่สุดของมนุษย์ นั่นคือ ความไม่มีตัวตน (อนัตตา) ความจริงดังกล่าวซุกซ่อนอยู่ในส่วนลึกที่สุดของมนุษย์ ที่ยากจะหยั่งถึงได้หากขาดการใคร่ครวญด้วยปัญญาอย่างลึกซึ้ง โดยปราศจากอคติและด้วยใจที่เป็นกลางอย่างแท้จริง

ตราบใดที่มองไม่เห็นความจริงดังกล่าว เราก็จะถูกครอบงำด้วยความหลงและเกิดความสำคัญมั่นหมายในตัวตน หวงแหนในตัวตนและเห็นแก่ตัวเป็นอย่างยิ่ง ผลก็คือจิตใจคับแคบ ชีวิตตื้นเขิน แม้จะมีชีวิตยืนยาวแต่ก็หาประโยชน์มิได้ กลับสร้างปัญหามากมายให้แก่ทั้งตนเองและผู้อื่น


พระไพศาล วิสาโล

เข็มทิศหัวใจ


ข้อคิดชีวิตมีสุข


1. เราไม่ได้มีชีวิตเพื่อการเฝ้านั่งเสียใจร่ำไห้ หรือ พูดถึงแต่สิ่งที่เราทำผิดพลาดในอดีต รู้จักให้อภัยตัวเองในสิ่งที่เราทำผิดพลาด แล้วไม่นึกถึงมันอีก

2. เรียนรู้ที่จะให้อภัยผู้อื่น ในสิ่งที่เขาทำผิดพลาดในอดีต แล้วไม่พูดถึงมันอีก

3. การปล่อยวางไม่ใช่เป็นการยอมแพ้ ตรงกันข้าม เป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งจากส่วนลึกของหัวใจของเราวันละน้อย เพื่อเอาชนะความอ่อนแอ

4. ชีวิตไม่ได้เติบโตจากการทำให้ทุกสิ่งได้ดั่งใจของเรา แต่เป็นการยอมรับทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตของเราอย่างกล้าหาญ รักและเข้าใจทุกสิ่งที่เราได้ตัดสินใจทำลงไปทุกครั้ง

5. เรียนรู้ความจริงว่าเราไม่สามารถบังคับผู้อื่นให้คิดและทำในสิ่งที่เราต้องการได้ เพราะแม้แต่ตัวเราเอง ยังทำให้เป็นอย่างที่เราต้องการไม่ได้เลย

6. อย่าเสียเวลาคิดแค้นเคืองโกรธในการกระทำของผู้อื่นที่ส่งผลให้เราทุกข์ใจ ให้อภัยเขาเสีย และหากอยากรู้สึกดีขึ้น ก็นึกถึงคำสอนในพุทธศาสนาว่า ใครทำกรรมใดไว้ ผู้นั้นย่อมได้รับผลนั้นได้ด้วยตนเอง

7. วัตถุหรือภาพลวงตาภายนอกไม่เคยสามารถเติมเต็มหัวใจใครได้ การตั้งหน้าตั้งตาหาวัตถุ หรือความพึงพอใจจากการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เพื่อหวังว่าจะทำให้เรารู้สึกเต็มและมีความสุข นั่นเป็นแค่ฝันลมๆแล้งๆ การรับวัตถุทำให้เรามีความต้องการไม่รู้จบ ขณะที่การได้รับความรักความเข้าใจจากคนที่รักอย่างเต็มเปี่ยมจะทำให้เรามีหัวใจที่ "เต็ม" จนไม่ต้องไขว่คว้าหาวัตถุมาเติมเต็มหัวใจอีก



.....

บางตอนจากหนังสือ "เข็มทิศหัวใจ"
ศิริรัตน์ ณ พัทลุง ต.สุวรรณ

มงคลชีวิต ๓๘ ประการ


มงคล คือเหตุแห่งความสุข ความก้าวหน้าในการดำเนินชีวิต ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้พึงปฏิบัติ นำมาจากบทมงคลสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบปัญหาเทวดาที่ถามว่า คุณธรรมอันใดที่ทำให้ชีวิตประสบความเจริญหรือมี "มงคลชีวิต" ซึ่งมี ๓๘ ประการได้แก่

๑. การไม่คบคนพาล
ท่านว่าลักษณะของคนพาลมี ๓ ประการคือ
๑.คิดชั่ว คือการมีจิตคิดอยากได้ในทางทุจริต มีความพยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ คือเห็นผิดเป็นชอบ
๒.พูดชั่ว คือคำพูดที่ประกอบไปด้วยวจีทุจริตเช่น พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อ
๓.ทำชั่ว คือทำอะไรที่ประกอบด้วยกายทุจริตเช่น การฆ่าสัตว์ ลักขโมย ฉ้อโกง ฉุดคร่าอนาจาร ประพฤติผิดในกาม
รูปแบบของคนพาล มีข้อควรสังเกตุคือ
๑. ชอบแนะนำไปในทางที่ผิด หรือที่ไม่ควรแนะนำ อาทิเช่น แนะนำให้ไปเล่นการพนัน ให้ไปลักขโมย ให้กินยาบ้า ให้เสพยา ชวนไปฉุดคร่าอนาจารเป็นต้น เหล่านี้ถือว่าเป็นพาล
๒. ชอบทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ อาทิเช่น ไม่ทำงานตามหน้าที่ของตนให้เรียบร้อย แต่กลับชอบจะไปก้าวก่ายยุ่งกับหน้าที่การงานของผู้อื่น หรือไปจับผิดเพื่อนร่วมงาน แกล้ง ยุยง นินทาว่าร้ายกันและกันเป็นต้น
๓. ชอบทำผิดโดยเห็นสิ่งผิดเป็นของดี อาทิเช่น การสูบยาได้เป็นฮีโร่ เห็นคนที่ซื่อสัตย์เป็นคนโง่ไม่กินตามน้ำ ชอบรับสินบน ทุจริตในหน้าที่ หรือช่วยพวกพ้องให้พ้นจากความผิดเป็นต้น
๔. จะโกรธเคืองเมื่อพูดเตือน อาทิเช่น การเตือนเรื่องการเที่ยวเตร่ เตือนเรื่องการดื่มเหล้า กลับบ้านดึก เตือนเรื่องการคบเพื่อนเป้นต้น คนพวกนี้จะโกรธเมื่อได้รับการตักเตือน และไม่รับฟัง
๕. ไม่มีระเบียบวินัย อาทิเช่น ไม่เข้าคิวตามลำดับก่อนหลัง แต่ชอบแซงคิวอย่างหน้าด้านๆ ทิ้งขยะลงคลอง หรือข้างทาง ไม่เคารพกฏหมายของบ้านเมือง หรือของท้องถิ่นเป็นต้น


๒. การคบบัญฑิต
บัณฑิต หมายถึงผู้ทรงความรู้ มีปัญญา มีจิตใจที่งาม และมีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง รู้ดีรู้ชั่ว (ไม่ใช่คนที่จบปริญญาโดยนัย) มีลักษณะดังนี้คือ
๑. เป็นคนคิดดี คือการไม่คิดละโมบ ไม่พยาบาทปองร้ายใคร รู้จักให้อภัย เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ ความกตัญญูรู้คุณเป็นต้น
๒. เป็นคนพูดดี คือวจีสุจริต พูดจริง ทำจริงไม่โกหก ไม่พูดหยาบ ถากถาง นินทาว่าร้าย
๓. เป็นคนทำดี คือทำอาชีพสุจริต มีเมตตา ทำทานเป็นปกตินิสัย อยู่ในศีลธรรม ทำสมาธิภาวนา
รูปแบบของบัณฑิต มีข้อควรสังเกตุคือ
๑. ชอบชักนำในทางที่ถูกที่ควร อาทิเช่นการชักนำให้เลิกทำในสิ่งที่ผิด ตักเตือนให้ทำความดีอย่างเช่น ให้เลิกเล่นการพนันเป็นต้น
๒. ชอบทำในสิ่งที่เป็นธุระ อาทิเช่นการทำหน้าที่ของตนให้ลุล่วง และใช้เวลาที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ ไม่ก้าวก่ายเรื่องของผู้อื่นเว้นแต่จะได้รับการร้องขอ
๓. ชอบทำและแนะนำสิ่งที่ถูกที่ควร อาทิเช่นการพูดและทำอย่างตรงไปตรงมา แนะนำการทำทานที่ถูกต้อง ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น
๔. รับฟังดี ไม่โกรธ อาทิเช่นเมื่อมีคนมาว่ากล่าวก็ไม่ถือโทษ หรือโกรธ หรือทำอวดดี แต่จะรับฟังแล้วนำไปพิจารณาโดยยุติธรรม แล้วนำมาแก้ไขปรับปรุง
๕. รู้ระเบียบ กฏกติกามรรยาทที่ดี อาทิเช่นการรักษาระเบียบวินัยขององค์กร เพื่อให้หมู่คณะมีความเป็นระเบียบ และการดำเนินงานไม่สับสน หรือการรักษาความสะอาด ปฏิบัติ และเคารพกฏของสถานที่ ไม่ทำตามอำเภอใจ


๓. การบูชาบุคคลที่ควรบูชา
การบูชา คือการแสดงความเคารพบุคคลที่เรานับถือ ยกย่อง เลื่อมใสในบุคคลคนนั้น ซึ่งการบูชาแบ่งออกเป็น ๒ อย่างคือ
๑. อามิสบูชา คือการบูชาด้วยสิ่งของเช่น การนำเงินให้พ่อแม่ไว้ใช้จ่าย หรือมอบทรัพย์สินให้พ่อแม่ หรือการนำดอกไม้ ธูปเทียนไปบูชาพระก็ถือเป็นอามิสบูชาเป้นต้น
๒.ปฏิบัติบูชา คือการบูชาด้วยการเจริญสมาธิภาวนา การฝึกจิตให้ไม่ฟุ้งซ่าน เห็นความจริงในความเป็นไปของโลกเป็นต้น
บุคคลที่ควรบูชา มีดังนี้คือ
๑.พระพุทธเจ้า (คงไม่ต้องอธิบาย)
๒.พระปัจเจกพระพุทธเจ้า หมายถึงพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
๓.พระมหากษัตริย์ผู้ตั้งอยู่ในทศพิศราชธรรม
๔.บิดามารดา
๕.ครูอาจารย์ ที่มีความรู้ดี มีความสามารถ และประพฤติดี
๖.อุปัชฌาย์ หรือผู้บังคับบัญชาที่มีความประพฤติดี ตั้งอยู่ในธรรม


๔. การอยู่ในถิ่นอันสมควร
ถิ่นอันสมควรควรประกอบด้วยสิ่งแวดล้อม ๔ อย่างได้แก่
๑.อาวาสเป็นที่สบาย หมายถึงอยู่แล้วสบาย เช่นสะอาด เดินทางไปมาสะดวก อากาศดี เป็นแหล่งชุมชน ไม่มีแหล่งอบายมุขเป็นต้น
๒.อาหารเป็นที่สบาย หมายถึงอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ เช่นมีแหล่งอาหารที่สามารถจัดซื้อหามาได้ง่าย เป็นต้น
๓.บุคคลเป็นที่สบาย หมายถึงที่ที่มีคนดี จิตใจโอบอ้อมอารี ถ้อยทีถ้อยอาศัย มีศีลธรรม ไม่มีโจร นักเลง หรือใกล้แหล่งอิทธิพลเป็นต้น
๔.ธรรมะเป็นที่สบาย หมายถึงมีที่พึ่งด้านธรรมะ มีที่ฟังธรรมเช่น มีวัดอยู่ในละแวกนั้น มีโรงเรียน หรือแหล่งศึกษาหาความรู้เป็นต้น


๕. เคยทำบุญมาก่อน
ขึ้นชื่อว่าบุญนั้น มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้คือ
๑. ทำให้กาย วาจา และใจ สะอาดได้
๒. นำมาซึ่งความสุข
๓. ติดตามไปได้ หมายถึงบุญจะติดตัวเราไปได้ตลอดจนถึงชาติหน้า
๔. เป็นของเฉพาะตน หมายถึงขอยืม หรือแบ่งกันไม่ได้ ทำเองได้เอง
๕. เป็นที่มาของโภคทรัพย์ทั้งหลาย คือว่าผลของบุญจะบันดาลให้เกิดขึ้นได้เองโดยไม่ได้หวังผล
๖. ให้มนุษย์สมบัติ ทิพย์สมบัติ และนิพพานสมบัติแก่เราได้ หมายถึงความสมบูรณ์ตั้งแต่ทางโลก จนถึงนิพพานได้เลย
๗. เป็นปัจจัยให้ถึงซึ่งนิพพาน ก็คือเป็นปัจจัยในการส่งเสริมให้บรรลุถึงนิพพานได้เร็วขึ้นเมื่อปฏิบัติ
๘. เป็นเกราะป้องกันภัยในวัฏสังสาร หมายถึงในวงจรการเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือที่เรียกว่าเวียนว่ายตายเกิดนั้น บุญจะคุ้มครองให้ผู้นั้นเกิดในที่ดี อยู่อย่างมีความสุข หรือตายอย่างไม่ทรมาน ขึ้นอยู่กับกำลังบุญที่สร้างสมมา
การทำบุญนั้นมีหลายวิธี แต่พอสรุปได้สั้นๆดังนี้คือ
๑.การทำทาน
๒.การรักษาศีล
๓.การเจริญภาวนา


๖. การตั้งตนชอบ
หมายถึงการดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมาย ด้วยความถูกต้องและสุจริต อยู่ในสัมมาอาชีพ มีแผนการที่จะไปให้ถึงจุดหมายนั้นด้วยความไม่ประมาท มีการเตรียมพร้อม และมีความอดทนไม่ละทิ้งกลางคัน


๗. ความเป็นพหูสูต
คือเป็นผู้ที่ฟังมาก เล่าเรียนมาก เป็นผู้รอบรู้ โดยมีลักษณะดังนี้คือ
๑.รู้ลึก คือการรู้ในสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆอย่างหมดจดทุกแง่ทุกมุม อย่างมีเหตุมีผล รู้ถึงสาเหตุจนเรียกว่าความชำนาญ
๒.รู้รอบ คือการรู้จักช่างสังเกตในสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่นเหตุการณ์แวดล้อมเป็นต้น
๓.รู้กว้าง คือการรู้ในสิ่งใกล้เคียงกับเรื่องนั้นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน สัมพันธ์กันเป็นต้น
๔.รู้ไกล คือการศึกษาถึงความเป็นไปได้ ผลในอนาคตเป็นต้น
ถ้าอยากจะเป็นพหูสูตก็ควรต้องมีคุณสมบัติดังว่านี้คือ
๑.ความตั้งใจฟัง ก็คือชอบฟัง ชอบอ่านหาความรู้ และค้นคว้าเป็นต้น
๒.ความตั้งใจจำ ก็คือรู้จักวิธีจำ โดยตั้งใจอ่านหรือฟังในสิ่งนั้นๆ และจับใจความให้ได้
๓.ความตั้งใจท่อง ก็คือท่องให้รู้โดยอัตโนมัติ ไม่ลืม ในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญ
๔.ความตั้งใจพิจารณา ก็คือการรู้จักพิจารณา ตรึกตรองในสิ่งนั้นๆอย่างทะลุปรุโปร่ง
๕.ความเข้าใจในปัญหา ก็คือการรู้อย่างแจ่มแจ้งในปัญหาอย่างถ่องแท้ด้วยปัญญา


๘. การรอบรู้ในศิลปะ
ศิลปะ คือสิ่งที่แสดงออกถึงความงดงาม และมีความสุนทรีย์ โดยลักษณะของมันมีดังนี้คือ
๑.มีความปราณีต
๒.ทำให้ของดูมีค่ามากขึ้น
๓.ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
๔.ไม่ทำให้เกิดกามกำเริบ
๕.ไม่ทำให้เกิดความพยาบาท
๖.ไม่ทำให้เกิดความเบียดเบียน
ถ้าท่านอยากเป็นคนมีศิลปะ ควรต้องฝึกให้มีคุณสมบัติเหล่านี้ไว้ในตัวคือ
๑.มีศรัทธาในความงดงามของสิ่งต่างๆ
๒.หมั่นสังเกตและพิจารณา
๓.มีความปราณีต อารมณ์ละเอียดอ่อน
๔.เป็นคนสุขุม มีความคิดสร้างสรรค์


๙. มีวินัยที่ดี
วินัย ก็คือข้อกำหนด ข้อบังคับ กฏเกณฑ์เพื่อควบคุมให้มีความเป็นระเบียบนั่นเอง มีทั้งวินัยของสงฆ์และของคนทั่วไป สำหรับของสงฆ์นั้นมีทั้งหมด ๗ อย่างหรือเรียกว่า อนาคาริยวินัย ส่วนของบุคคลทั่วไปก็มี ๑๐ อย่าง คือการละเว้นจากอกุศลกรรม ๑๐ ประการ
อนาคาริยวินัยของพระมีดังนี้
๑.ปาฏิโมกขสังวร คือการอยู่ในศีลทั้งหมด ๒๒๗ ข้อ การผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งก็ถือว่าต้องโทษแล้วแต่ความหนักเบา เรียงลำดับกันไปตั้งแต่ ขั้นปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต เป็นต้น (ความหมายของแต่ละคำมันต้องอธิบายเยอะ จะไม่กล่าวในที่นี้)
๒.อินทรียสังวร คือการสำรวมอายตนะทั้ง ๕ และกาย วาจา ใจ ให้อยู่กับร่องกับรอย โดยอย่าไปเพลิดเพลินติดกับสิ่งที่มาสัมผัสเหล่านั้น
๓.อาชีวปาริสุทธิสังวร คือการหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ นั่นก็คือการออกบิณฑบาตร ไม่ได้เรียกร้อง เรี่ยไรหรือเที่ยวขอเงินชาวบ้านมาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของตัวเอง
๔.ปัจจยปัจจเวกขณะ คือการพิจารณาในสิ่งของทั้งหลายถึงคุณประโยชน์โดยเนื้อแท้ของสิ่งของเหล่านั้นอย่างแท้จริง โดยใช้เพื่อบริโภค เพื่อประโยชน์ ความอยู่รอด และความเป็นไปของชีวิตเท่านั้น
วินัยสำหรับฆราวาส หรือบุคคลทั่วไป เรียกว่าอาคาริยวินัย มีดังนี้ (อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ)
๑.ไม่ฆ่าชีวิตคน หรือสัตว์ไม่ว่าน้อย ใหญ่
๒.ไม่ลักทรัพย์ ยักยอกเงิน สิ่งของมาเป็นของตัว
๓.ไม่ประพฤติผิดในกาม ผิดลูกผิดเมีย ข่มขืนกระทำชำเรา
๔.ไม่พูดโกหก หลอกลวงให้หลงเชื่อ หรือชวนเชื่อ
๕.ไม่พูดส่อเสียด นินทาว่าร้าย ยุยงให้คนแตกแยกกัน
๖.ไม่พูดจาหยาบคาย ให้เป็นที่แสลงหูคนอื่น
๗.ไม่พูดจาไร้สาระ หรือที่เรียกว่าพูดจาเพ้อเจ้อไม่มีสาระ เหตุผล หรือประโยชน์อันใด
๘.ไม่โลภอยากได้ของเขา คือมีความคิดอยากเอาของคนอื่นมาเป็นของเรา
๙.ไม่คิดร้าย ผูกใจเจ็บ แค้น ปองร้ายคนอื่น
๑๐.ไม่เห็นผิดเป็นชอบ เช่น เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีความสำคัญ บุญหรือกรรมไม่มีจริงเป็นต้น


๑๐.กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต
คำว่าวาจาอันเป็นสุภาษิตในที่นี้มิได้หมายถึงเพียงว่าต้องเป็นคำร้อยกรอง ร้อยแก้ว เป็นคำคมบาดใจมีความหมายลึกซึ้งเท่านั้น แต่รวมถึงคำพูดที่ดี มีประโยชน์ต่อผู้ฟัง ซึ่งสรุปว่าประกอบด้วยลักษณะดังนี้
๑.ต้องเป็นคำจริง คือข้อมูลที่ถูกต้อง มีหลักฐานอ้างอิงได้ ไม่ได้ปั้นแต่งขึ้นมาพูด
๒.ต้องเป็นคำสุภาพ คือพูดด้วยภาษาที่สุภาพ มีความไพเราะในถ้อยคำ ไม่มีคำหยาบโลน หรือคำด่า
๓.พูดแล้วมีประโยชน์ คือมีประโยชน์ต่อผู้ฟังถ้าหากนำแนวทางไปคิด หรือปฏิบัติในทางสร้างสรรค์
๔.พูดด้วยจิตที่มีเมตตา คือพูดด้วยจิตใจที่มีความปรารถนาดีต่อผู้ฟัง มีความจริงใจต่อผู้ฟัง
๕.พูดได้ถูกกาลเทศะ คือพูดในสถานที่เหมาะสม และในเวลาที่เหมาะสม โดยความเหมาะสมจะมีมากน้อยเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับเรื่องที่พูด


๑๑.การบำรุงบิดามารดา
ท่านว่าพ่อแม่นั้นเปรียบได้เป็นทั้ง ครูของลูก เทวดาของลูก พรหมของลูก และอรหันต์ของลูก ความหมายโดยละเอียดมีดังต่อไปนี้คือ
ที่ว่าเป็นครูของลูก เพราะว่าท่านได้คอยอบรมสั่งสอนลูก เป็นคนแรกก่อนคนอื่นใดในโลก
ที่ว่าเป็นเทวดาของลูก เพราะว่าท่านจะคอยปกป้อง คุ้มครอง เลี้ยงดู ประคบประหงมมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก บำรุงให้เติบใหญ่เป็นอย่างดี ไม่ให้เกิดอันตรายต่อลูกในทุกด้าน
ที่ว่าเป็นพรหมของลูก เพราะว่าท่านมีพรหมวิหาร ๔ นั่นก็คือ มีเมตตา หมายถึงความเอ็นดู ความปรารถนาดีต่อลูกในทุกๆด้าน ไม่มีที่สิ้นสุด มีกรุณา หมายถึงให้ความกรุณาต่อลูก ลูกอยากได้อะไรก็หามาให้ลูก ให้การศึกษาเล่าเรียน ส่งเสียเท่าที่มีความสามารถจะให้ได้ มีมุทิตา หมายถึงความรักที่ยอมสละได้แม้ชีวิตของตัวเองเพื่อลูก ยอมเสียสละได้ทุกอย่าง และมีอุเบกขา หมายถึงการวางเฉย ไม่ถือโกรธเมื่อลูกประมาท ซน ทำผิดพลาดเพราะความไร้เดียงสา หรือเพราะความไม่รู้
ที่ว่าเป็นอรหันต์ของลูก เพราะว่าท่านมีคุณธรรม ๔ ประการอันได้แก่
๑. เป็นผู้มีอุปการะคุณต่อลูก คืออุปการะเลี้ยงดูมาด้วยความเหนื่อยยาก กว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่
๒. เป็นผู้มีพระเดชพระคุณต่อลูก คือให้ความอบอุ่นเลี้ยงดู ปกป้องจากภยันตรายต่างๆ นานา
๓. เป็นเนื้อนาบุญของลูก คือลูกเป็นส่วนหนึ่งของกรรมดีที่พ่อแม่ได้ทำไว้ และเป็นผู้รับผลบุญที่พ่อแม่ได้สร้างไว้แล้วทางตรง
๔. เป็นอาหุไนยบุคคล คือเป็นเหมือนพระที่ควรแก่การเคารพนับถือและรับของบูชา เพื่อเทอดทูนไว้เป็นแบบอย่าง
การทดแทนพระคุณบิดามารดาท่านสามารถทำได้ดังนี้
ระหว่างเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็เลี้ยงดูท่านเป็นการตอบแทน ช่วยเหลือเป็นธุระเรื่องการงานให้ท่าน ดำรงวงศ์ตระกูลให้สืบไปไม่ทำเรื่องเสื่อมเสีย รวมทั้งประพฤติตนให้ควรแก่การเป็นสืบทอดมรดกจากท่าน ครั้นเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็ทำบุญอุทิศกุศลให้ท่าน ส่วนการเป็นลูกกตัญญูต่อพ่อแม่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่าไว้ดังนี้

๑.ถ้าท่านยังไม่มีศรัทธา ให้ท่านถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือพยายามให้ท่านมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เชื่อในเรื่องการทำดี
๒.ถ้าท่านยังไม่มีศีล ให้ท่านถึงพร้อมด้วยศีล คือพยายามให้ท่านเป็นผู้รักษาศีล ๕ ให้ได้
๓.ถ้าท่านเป็นคนตระหนี่ ให้ท่านถึงพร้อมด้วยการให้ทาน คือพยายามให้ท่านรู้จักการให้ด้วยเมตตาโดยไม่หวังผลตอบแทน
๔.ถ้าท่านยังไม่ทำสมาธิภาวนา ให้ท่านถึงพร้อมด้วยปัญญา คือพยายามให้ท่านหัดนั่งทำสมาธิภาวนาให้ได้


๑๒.การสงเคราะห์บุตร
คำว่าบุตรนั้น มีอยู่ ๓ ประเภทได้แก่
๑.อภิชาติบุตร คือบุตรที่มีความดี คุณธรรม และความสามารถเหนือกว่าบิดา มารดา
๒.อนุชาตบุตร คือบุตรที่มีความดี คุณธรรม และความสามารถเสมอบิดา มารดา
๓.อวชาตบุตร คือบุตรที่มีความดี คุณธรรม และความสามารถต่ำกว่าบิดา มารดา
การที่เราเป็นพ่อ เป็นแม่ของบุตรนั้น มีหน้าที่ที่ต้องให้กับลูกของเราคือ
๑.ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว
๒.ปลูกฝัง สนับสนุนให้ทำความดี
๓.ให้การศึกษาหาความรู้
๔.ให้ได้คู่ครองที่ดี (ใช้ประสพการณ์ของเราให้คำปรึกษาแก่ลูก ช่วยดูให้)
๕.มอบทรัพย์ให้ในโอกาสอันควร (การทำพินัยกรรม ก็ถือว่าเป็นสิ่งถูกต้อง)


๑๓.การสงเคราะห์ภรรยา
เมื่อว่าด้วยเรื่องคนที่จะมาเป็นคู่ครองของชาย หรือที่เรียกว่าจะมาเป็นภรรยานั้น ในโลกนี้ท่านแบ่งลักษณะของภรรยาออกเป็น ๗ ประเภทได้แก่
๑.วธกาภริยา หมายถึงภรรยาเสมอด้วยเพชรฆาต เป็นพวกที่มีจิตใจคิดไม่ดี ชอบทำร้าย ชอบด่าทอสาปแช่ง คิดฆ่าสามี หรือมีชู้กับชายอื่น
๒.โจรีภริยา หมายถึงภรรยาเสมอด้วยโจร เป็นคนล้างผลาญ สร้างหนี้สิน หาได้เท่าไรก็ไม่พอ หรือเอาเรื่องในบ้านไปโพทนาให้คนข้างนอกรับรู้ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง
๓.อัยยาภริยา หมายถึงภรรยาเสมอด้วยนาย เป็นคนชอบข่มสามีให้อยู่ในอำนาจ ไม่ให้เกียรติสามีเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้อื่น ชอบสั่งการหรือเอาแต่ใจตัวเอง เห็นสามีเป็นคนไร้ความสามารถ แต่ตัวเองเป็นผู้นำ
๔.มาตาภริยา หมายถึงภรรยาเสมอด้วยแม่ คือผู้ที่มีความรักต่อสามีอย่างสุดซึ้ง ไม่เคยทอดทิ้งแม้ยามทุกข์ยาก ป่วยไข้ ไม่ทำให้มีเรื่องสะเทือนใจ
๕.ภคินีภริยา หมายถึงภรรยาเสมอด้วยน้องสาว คือผู้ที่มีความเคารพต่อสามีในฐานะพ่อบ้าน แต่ขัดใจกันบ้างตามประสาคนใกล้ชิดกันแล้วก็ให้อภัยกัน โดยไม่คิดพยาบาท เดินตามแนวทางของสามี ต้องพึ่งพาสามี
๖.สขีภริยา หมายถึงภรรยาเสมอด้วยเพื่อน ต่างคนต่างก็มีอะไรที่เหมือนกัน ความสามารถพอกัน ไม่จำเป็นต้องพึ่งพากัน ไม่ค่อยยอมกัน เป็นตัวของตัวเอง แต่ก็รักกันและช่วยเหลือกันโดยต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเอง
๗.ทาสีภริยา หมายถึงภรรยาเสมอด้วยคนรับใช้ คือภรรยาที่อยู่ภายใต้คำสั่งสามีโดยไม่มีข้อโต้แย้ง สามีเป็นผู้เลี้ยงดู สั่งอะไรก็ทำอย่างนั้นแม้จะไม่เห็นด้วยก็ไม่ออกความเห็น อดทนทำงานตามหน้าที่ตามแต่สามีจะสั่งการ แม้ถูกดุด่า เฆี่ยนตีก็ยังทนอยู่ได้โดยไม่โต้ตอบ
ท่านว่าคนที่จะมาเป็นสามี ภรรยาได้ดีหรือคู่สร้างคู่สมนั้นควรต้องมีคุณสมบัติดังนี้
๑.สมสัทธา คือมีศรัทธาเสมอกัน
๒.สมสีลา คือมีศีลเสมอกัน
๓.สมจาคะ คือมีการเสียสละเหมือนกัน
๔.สมปัญญา คือมีปัญญาเสมอกัน
เมื่อได้แต่งงานกันแล้ว แต่ละฝ่ายก็มีหน้าที่ที่ต้องทำดังนี้
สามีมีหน้าที่ต่อภรรยาคือ
๑.ยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา คือการแนะนำเปิดเผยว่าเป็นภรรยา ไม่ปิดบังกับผู้อื่น และให้เกียรติภรรยาในการตัดสินใจเรื่องต่างๆด้วย
๒.ไม่ดูหมิ่น คือไม่ดูถูกภรรยาเมื่อทำไม่เป็น ทำไม่ถูก หรือเรื่องชาติตระกูล การศึกษาว่าต่ำต้อยกว่าตน แต่ต้องสอนให้
๓.ไมประพฤตินอกใจภรรยา คือการไปมีเมียน้อยนอกบ้าน เลี้ยงต้อย หรือเที่ยวเตร่หาความสำราญกับหญิงบริการ
๔.มอบความเป็นใหญ่ให้ในบ้าน คือการมอบธุระทางบ้านให้กับภรรยาจัดการ รับฟังและทำตามความเห็นของภรรยาเกี่ยวกับบ้าน
๕.ให้เครื่องแต่งตัว คือให้ความสุขกับภรรยาเรื่องการแต่งตัวให้พอดี เพราะสตรีเป็นผู้รักสวยรักงามโดยธรรมชาติ
ฝ่ายภรรยาก็มีหน้าที่ต้องตอบแทนสามีคือ
๑.จัดการงานดี คืองานบ้านการเรือนต้องไม่บกพร่อง ดูแลด้านความสะอาด ทำนุบำรุงรักษา ด้านโภชนาการให้เรียบร้อยดี
๒.สงเคราะห์ญาติสามีดี คือให้ความเอื้อเฟื้อญาติฝ่ายสามี เท่าที่ตนมีกำลังพอทำได้ ไม่ได้หมายถึงเรื่องทรัพย์สินเงินทองอย่างเดียว
๓.ไม่ประพฤตินอกใจสามี คือไม่คบชู้ หรือปันใจให้ชายอื่น ซื่อสัตย์ต่อสามีคนเดียว
๔.รักษาทรัพย์ให้อย่างดี คือรู้จักรักษาทรัพย์สินไว้ไม่ให้หมดไปด้วยความสิ้นเปลือง แต่ก็ไม่ถึงกับตระหนี่
๕.ขยันทำงาน คือไม่เกียจคร้านเอาแต่ออกงาน นอน กิน หรือเที่ยวแต่อย่างเดียว ต้องทำงานบ้านด้วย


๑๔.การทำงานไม่ให้คั่งค้าง
ว่าด้วยสาเหตุที่ทำให้งานคั่งค้างนั้นสรุปสาเหตุได้เพราะว่า
๑.ทำงานไม่ถูกกาล
๒.ทำงานไม่ถูกวิธี
๓.ไม่ยอมทำงาน
หลักการทำงานให้เสร็จลุล่วงมีดังนี้
๑.ฉันทะ คือมีความพอใจในงานที่ทำ
๒.วิริยะ คือมีความตั้งใจ พากเพียรในงานที่ทำ
๓.จิตตะ คือมีความเอาใจใส่ในงานที่ทำ
๔.วิมังสา คือมีการคิดพิจารณาทบทวนงานนั้นๆ


๑๕.การให้ทาน
การให้ทาน คือการให้ที่ไม่หวังผลตอบแทนโดยหมายให้ผู้ได้รับได้พ้นจากทุกข์ แบ่งออกเป็น ๓ อย่างได้แก่
๑.อามิสทาน คือการให้วัตถุ สิ่งของ หรือเงินเป็นทาน
๒.ธรรมทาน คือการสอนให้ธรรมะเป็นความรู้เป็นทาน
๓.อภัยทาน คือการให้อภัยในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ดีกับเรา ไม่จองเวร หรือพยาบาทกัน
การให้ทานที่ถือว่าเป็นความดี และได้บุญมากนั้นจะประกอบด้วยปัจจัย ๓ ประการอันได้แก่
๑.วัตถุบริสุทธิ์ คือเป็นของที่ได้มาโดยสุจริต ไม่ได้ไปยักยอกมา โกงมา หรือได้มาด้วยวิธีแยบยล
๒.เจตนาบริสุทธิ์ คือมีจิตยินดี ผ่องใสเบิกบาน ไม่รู้สึกเสียดายสิ่งที่ให้ ตั้งแต่ก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้
๓.บุคคลบริสุทธิ์ คือให้กับผู้รับที่มีศีลธรรม ตัวผู้ให้เองก็ต้องมีศีลที่บริสุทธิ์
การให้ทานที่ถือว่าไม่ดี และยังอาจเป็นบาปกรรมถึงเราทางอ้อมอีกด้วยได้แก่
๑.ให้สุรา ยาเสพย์ติด เป็นต้น (ถ้าเขาเมาแล้วขับรถชนตาย เราก็มีส่วนบาปด้วย)
๒.ให้อาวุธ (ถ้าอาวุธนั้นถูกเอาไปใช้ประหัตประหาร บาปก็มาถึงเราด้วย)
๓.ให้มหรสพ คือการบันเทิงทุกรูปแบบ
๔.ให้สัตว์เพศตรงข้ามเพื่อผสมพันธุ์ อันนี้รวมถึงการจัดหาสาวๆ ไปบำเรอผู้มีอำนาจหรือผู้น้อยด้วยเป็นต้น
๕.ให้ภาพลามก หรือสิ่งพิมพ์ลามก เพราะทำให้เกิดความกำหนัด เกิดกามกำเริบ (เมื่อดูแล้วเกิดไปฉุดคร่า ข่มขืนใคร บาปก็ตกทอดมาถึงเราด้วย)


๑๖.การประพฤติธรรม
การประพฤติธรรม ก็คือการปฏิบัติให้เป็นไป แบ่งออกได้เป็น ๒ อันได้แก่
กายสุจริต คือ
๑.การไม่ฆ่าสัตว์ หมายรวมหมดตั้งแต่สัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ และมนุษย์
๒.การไม่ลักทรัพย์ หมายรวมถึงการคอรัปชั่น ไปหลอกลวง ปล้นจี้ชาวบ้านด้วย
๓.การไม่ประพฤติผิดในกาม หมายรวมถึงการคบชู้ นอกใจภรรยา และการข่มขืนด้วย
วจีสุจริต คือ
๑.การไม่พูดเท็จ คือการพูดแต่ความจริง ไม่หลอกลวง
๒.การไม่พูดคำหยาบ คือคำที่ฟังแล้วไม่รื่นหู เกิดความรู้สึกไม่สบายใจรวมหมด
๓.การไม่พูดจาส่อเสียด การนินทาว่าร้าย
๔.การไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล คือการพูดที่ไม่เป็นสาระ หาประโยชน์อันใดมิได้
มโนสุจริต คือ
๑.การไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น คือการนึกอยากได้ของเขามาเป็นของเรา
๒.การไม่คิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น คือการนึกอยากให้คนอื่นประสพเคราะห์กรรม คิดจะทำร้ายผู้อื่น
๓.การเห็นชอบ คือมีความเชื่อความเข้าใจในความเป็นจริง ความถูกต้องตามหลักคำสอนตามแนวทางพระพุทธศาสนา


๑๗.การสงเคราะห์ญาติิ
ลักษณะของญาติที่ควรให้การสงเคราะห์ เมื่ออยู่ในฐานะดังนี้คือ
๑.เมื่อยากจนหาที่พึ่งมิได้
๒.เมื่อขาดทุนทรัพย์ในการค้าขาย
๓.เมื่อขาดยานพาหนะ
๔.เมื่อขาดอุปกรณ์ทำมาหากิน
๕.เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย
๖.เมื่อคราวมีธุระการงาน
๗.เมื่อคราวถูกใส่ความหรือมีคดี
การสงเคราะห์ญาติ ทำได้ทั้งทางธรรมและทางโลกได้แก่
ในทางธรรม ก็ช่วยแนะนำให้ทำบุญกุศล ให้รักษาศีล และทำสมาธิภาวนา
ในทางโลก ก็ได้แก่
๑.ให้ทาน คือการสงเคราะห์เป็นทรัพย์สิน หรือเงินทองเพื่อให้เขาพ้นจากทุกข์หรือความลำบากตามแต่กำลัง
๒.ใช้ปิยวาจา คือการพูดเจรจาด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน สุภาพ และประกอบไปด้วยความปรารถนาดี
๓.มีอัตถจริยา คือการประพฤติตนให้เป็นประโยชน์กับเขา อาจช่วยเหลือด้วยแรงกาย กำลังใจ หรือด้วยความสามารถที่มี
๔.รู้จักสมานัตตตา คือการวางตัวให้เหมาะสม อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ร่วมทุกข์ร่วมสุข ไม่ถือตัว


๑๘.ทำงานที่ไม่มีโทษ
งานที่ไม่มีโทษ ประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้
๑.ไม่ผิดกฏหมาย คือทำให้ถูกต้องตามกฏหมายของบ้านเมือง
๒.ไม่ผิดประเพณี คือแบบแผนที่ปฏิบัติกันมาแต่เดิม ควรดำเนินตาม
๓.ไม่ผิดศีล คือข้อห้ามที่บัญญัติไว้ในศีล ๕
๔.ไม่ผิดธรรม คือหลักธรรมทั้งหลายอาทิเช่น การพนัน การหลอกลวง
ส่วนอาชีพต้องห้ามสำหรับพุทธศาสนิกชนได้แก่
๑.การค้าอาวุธ
๒.การค้ามนุษย์
๓.การค้ายาพิษ
๔.การค้ายาเสพย์ติด
๕.การค้าสัตว์เพื่อนำไปฆ่า


๑๙.ละเว้นจากบาป
บาปคือสิ่งที่ไม่ดี เสีย ความชั่วที่ติดตัว ซึ่งไม่ควรทำ ท่านว่าสิ่งที่ทำแล้วถือว่าเป็นบาปได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ คือ
๑.ฆ่าสัตว์
๒.ลักทรัพย์
๓.ประพฤติผิดในกาม
๔.พูดเท็จ
๕.พูดส่อเสียด
๖.พูดคำหยาบ
๗.พูดเพ้อเจ้อ
๘.โลภอยากได้ของเขา
๙.คิดพยาบาทปองร้ายคนอื่น
๑๐.เห็นผิดเป็นชอบ


๒๐.สำรวมจากการดื่มน้ำเมา
ว่าด้วยเรื่องของน้ำเมานั้น อาจทำมาจากแป้ง ข้าวสุก การปรุงโดยผสมเชื้อ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ดื่มแล้วทำให้มึนเมา เช่นเบียร์ ไวน์ ไม่ใช่แค่เหล้าเท่านั้น ล้วนมีโทษอันได้แก่
๑.ทำให้เสียทรัพย์ เพราะต้องนำเงินไปซื้อหาทั้งๆที่เงินจำนวนเดียวกันนี้สามารถนำเอาไปใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างอื่นได้มากกว่า
๒.ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท ซึ่งนำไปสู่ความวุ่นวาย เจ็บตัว หรือถึงแก่ชีวิต และคดีความ เพราะน้ำเมาทำให้ขาดการยับยั้งชั่งใจ
๓.ทำให้เกิดโรค โรคที่เกิดเนื่องมาจากการดื่มสุราล้วนแล้วแต่บั่นทอนสุขภาพกายจนถึงตายได้เช่น โรคตับแข็ง โรคหัวใจ โรคความดัน
๔.ทำให้เสียชื่อเสียง เมื่อคนเมาไปทำเรื่องไม่ดีเข้าเช่นไปลวนลามสตรี ปล่อยตัวปล่อยใจ ก็ทำให้วงศ์ตระกูล และหน้าที่การงานเสี่อมเสีย
๕.ทำให้ลืมตัวไม่รู้จักอาย คนเมาทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ทำสิ่งที่คนมีสติจะไม่ทำ เช่นแก้ผ้าเดิน หรือนอนในที่สาธารณะเป็นต้น
๖.ทอนกำลังปัญญา ทานแล้วทำให้เซลล์สมองเริ่มเสื่อมลง ก็จะทำให้สุขภาพและปัญญาเสื่อมถอย ความสามารถโดยรวมก็ด้อยลง


๒๑.ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
ธรรมในที่นี้ก็คือหลักปฏิบัติที่ทำแล้วมีผลในทางดีและเป็นจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงโปรดแนะทางไว้
คนที่ประมาทในธรรมนั้นมีลักษณะที่สรุปได้ดังนี้คือ
๑.ไม่ทำเหตุดี แต่จะเอาผลดี
๒.ทำตัวเลว แต่จะเอาผลดี
๓.ทำย่อหย่อน แต่จะเอาผลมาก
สิ่งที่ไม่ควรประมาทได้แก่
๑.การประมาทในเวลา คือการปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปโดยไม่ทำอะไรให้เกิดประโยชน์ หรือผลัดวันประกันพรุ่งเป็นต้น
๒.การประมาทในวัย คือคิดว่าอายุยังน้อย ไม่ต้องทำความเพียรก็ได้เพราะยังต้องมีชีวิตอยู่อีกนานเป็นต้น
๓.การประมาทในความไม่มีโรค คือคิดว่าตัวเองแข็งแรงไม่ตายง่ายๆ ก็ปล่อยปละละเลยเป็นต้น
๔.การประมาทในชีวิต คือการไม่กำหนดวางแผนถึงอนาคต คิดอยู่แต่ว่ายังมีชีวิตอยู่อีกนานเป็นต้น
๕.การประมาทในการงาน คือไม่ขยันตั้งใจทำให้สำเร็จ ปล่อยตามเรื่องตามราว หรือปล่อยให้ดินพอกหางหมูเป็นต้น
๖.การประมาทในการศึกษา คือการไม่คิดศึกษาเล่าเรียนในวัยที่ควรเรียน หรือขาดความเอาใจใส่ที่เพียงพอ
๗.การประมาทในการปฏิบัติธรรม คือการไม่ปฏิบัติสมาธิภาวนาหรือศึกษาหลักธรรมให้ถ่องแท้ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวเป็นต้น


๒๒.มีความเคารพ
ท่านได้กล่าวว่าสิ่งที่ควรเคารพมีอยู่ดังนี้
๑.พระพุทธเจ้า
๒.พระธรรม
๓.พระสงฆ์
๔.การศึกษา
๕.ความไม่ประมาท คือการดำเนินตามหลักธรรมคำสอนพระพุทธศาสนาอื่นๆ ด้วยความเคารพ
๖.การสนทนาปราศรัย คือการต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือนด้วยความเคารพ


๒๓.มีความถ่อมตน
ความอ่อนน้อมถ่อมตน คือ การไม่แสดงออกถึงความสามารถที่ตัวเองมีอยู่ให้ผู้อื่นทราบเพื่อข่มผู้อื่น หรือเพื่อโอ้อวด การไม่อวดดี เย่อหยิ่งจองหอง แต่แสดงตนอย่างสงบเสงี่ยม
ท่านว่าไว้ว่าโทษของการอวดดีนั้นมีอยู่ดังนี้คือ
๑.ทำให้เสียคน คือไม่สามารถกลับมาอยู่ในร่องในรอยได้เหมือนเดิม เสียอนาคต
๒.ทำให้เสียมิตร คือไม่มีใครคบหาเป็นเพื่อนด้วย ถึงจะมีก็ไม่ใช่เพื่อนแท้
๓.ทำให้เสียหมู่คณะ คือถ้าต่างคนต่างถือดี ก็ทำให้ไม่สามารถตกลงกันได้ ในที่สุดก็ไม่ถึงจุดหมาย หรือทำให้เป็นที่เบื่อหน่ายของคนอื่น
การทำตัวให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนนั้นมีหลักดังนี้คือ
๑.ต้องคบกัลยาณมิตร คือเพื่อนที่ดีมีศีลมีธรรม คอยตักเตือนหรือชักนำไปในทางที่ดีที่ถูกที่ควร
๒.ต้องรู้จักคิดไตร่ตรอง คือการรู้จักคิดหาเหตุผลอยู่ตลอดถึงความเป็นไปในธรรมชาติของมนุษย์ ต่างคนย่อมต่างจิดต่างใจ และรวมทั้งหลักธรรมอื่นๆ
๓.ต้องมีความสามัคคี คือการมีความสามัคคีในหมู่คณะ อลุ่มอล่วยในหลักการ ตักเตือน รับฟังและเคารพความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างมีเหตุผล
ท่านว่าลักษณะของคนถ่อมตนนั้นมีดังนี้
๑.มีกิริยาที่นอบน้อม
๒.มีวาจาที่อ่อนหวาน
๓.มีจิตใจที่อ่อนโยน
สรุปแล้วก็คือ สมบูรณ์พร้อมด้วยกาย วาจา และใจนั่นเอง


๒๔.มีความสันโดษ
คำว่าสันโดษไม่ได้หมายถึงการอยู่ลำพังคนเดียวอย่างเดียวก็หาไม่ แต่หมายถึงการพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ในของของตัว ซึ่งท่านได้ให้นิยามที่เป็นลักษณะของความสันโดษเป็นดังนี้ คือ
๑.ยถาลาภสันโดษ หมายถึงความยินดีตามมีตามเกิด คือมีแค่ไหนก็พอใจเท่านั้น เป็นอยู่อย่างไรก็ควรจะพอใจ ไม่คิดน้อยเนื้อต่ำใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่
๒.ยถาพลสันโดษ หมายถึงความยินดีตามกำลัง เรามีกำลังแค่ไหนก็พอใจเท่านั้น ตั้งแต่กำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังบารมี หรือกำลังความสามารถเป็นต้น
๓.ยถาสารูปสันโดษ หมายถึงความยินดีตามควร ซึ่งโยงใยไปถึงความพอเหมาะพอควรในหลายๆเรื่อง เช่นรูปลักษณ์ของตนเอง และรวมทั้งฐานะที่เราเป็นอยู่


๒๕.มีความกตัญญู
คือการรู้คุณ และตอบแทนท่านผู้นั้น บุญคุณที่ว่านี้มิใช่ว่าตอบแทนกันแล้วก็หายกัน แต่หมายถึงการรำลึกถึงพระคุณที่เคยให้ความอุปการะแก่เราด้วยความเคารพยิ่ง ท่านว่าสิ่งของหรือผู้ที่ควรกตัญญูนั้นมีดังนี้
๑.กตัญญูต่อบุคคล บุคคลที่ควรกตัญญูก็คือใครก็ตามที่มีบุญคุณควรระลึกถึงและตอบแทนพระคุณ เช่น บิดา มารดา อาจารย์เป็นต้น
๒.กตัญญูต่อสัตว์ ได้แก่สัตว์ที่มีคุณต่อเราช่วยทำงานให้เรา เราก็ควรเลี้ยงดูให้ดีเช่นช้าง ม้า วัว ควาย หรือสุนัขที่ช่วยเฝ้าบ้านเป็นต้น
๓.กตัญญูต่อสิ่งของ ได้แก่สิ่งของทุกอย่างที่มีคุณต่อเราเช่น หนังสือที่ให้ความรู้แก่เรา อุปกรณ์ทำมาหากินต่างๆ เราไม่ควรทิ้งคว้าง หรือทำลายโดยไม่เห็นคุณค่า


๒๖.การฟังธรรมตามกาล
เมื่อมีโอกาส เวลา หรือตามวันสำคัญต่างๆ ก็ควรต้องไปฟังธรรมบ้างเพื่อสดับตรับฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ในหลักธรรมนั้นๆ และนำมาใช้กับชีวิตเราเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น ท่านว่าเวลาที่ควรไปฟังธรรมนั้นมีดังนี้คือ
๑.วันธรรมสวนะ ก็คือวันพระ หรือวันที่สำคัญทางศาสนา
๒.เมื่อมีผู้มาแสดงธรรม ก็อย่างเช่น การฟังธรรมตามวิทยุ การที่มีพระมาแสดงธรรมตามสถานที่ต่างๆ หรือการอ่านจากสื่อต่างๆ
๓.เมื่อมีโอกาสอันสมควร อาทิเช่นในวันอาทิตย์เมื่อมีเวลาว่าง หรือในงานมงคล งานบวช งานกฐิน งานวัดเป็นต้น
คุณสมบัติของผู้ฟังธรรมที่ดีควรต้องมีดังนี้คือ
๑.ไม่ดูแคลนในหัวข้อธรรมว่าง่ายเกินไป
๒.ไม่ดูแคลนในความรู้ความสามารถของผู้แสดงธรรม
๓.ไม่ดูแคลนในตัวเองว่าโง่ ไม่สามารถเข้าใจได้
๔.มีความตั้งใจในการฟังธรรม และนำไปพิจารณา
๕.นำเอาธรรมนั้นๆไปปฏิบัติให้เกิดผล


๒๗.มีความอดทน
ท่านว่าลักษณะของความอดทนนั้นสามารถจำแนกออกได้เป็นดังต่อไปนี้คือ
๑.ความอดทนต่อความลำบาก คือความลำบากที่ต้องประสพตามธรรมชาติ ซึ่งอาจมาจากสภาพแวดล้อมเป็นต้น
๒.ความอดทนต่อทุกขเวทนา คือทุกข์ที่เกิดจากสังขารของเราเอง เช่นความไม่สบายกายเป็นต้น
๓.ความอดทนต่อความเจ็บใจ คือการที่คนอื่นทำให้เราต้องผิดหวัง หรือพูดจาให้เจ็บช้ำใจ ไม่เป็นอย่างที่หวังเป็นต้น
๔.ความอดทนต่ออำนาจกิเลส คือสิ่งยั่วยวนทั้งหลายถือเป็นกิเลสทั้งทางใจและทางกายอาทิเช่น ความนึกโลภอยากได้ของเขา หรือการพ่ายแพ้ต่ออำนาจเงินเป็นต้น
วิธีทำให้มีความอดทนคือ มีหิริโอตัปปะ
๑.หิริ ได้แก่การมีความละอายต่อบาป การที่รู้ว่าเป็นบาปแล้วยังทำอีกก็ถือว่าไม่มีความละอายเลย
๒.โอตัปปะ ได้แก่การมีความเกรงกลัวในผลของบาปนั้นๆ


๒๘.เป็นผู้ว่าง่าย
ท่านว่าผู้ว่าง่ายนั้นมีลักษณะที่สังเกตได้ดังนี้คือ
๑.ไม่พูดกลบเกลื่อนเมื่อได้รับการว่ากล่าวตักเตือน คือการรับฟังด้วยดี ไม่ใช่แก้ตัวแล้วปิดประตูความคิดไม่รับฟัง
๒.ไม่นิ่งเฉยเมื่อได้รับการเตือน คือการนำคำตักเตือนนั้นมาพิจารณาและแก้ไขข้อบกพร่องนั้นๆ
๓.ไม่จับผิดผู้ว่ากล่าวสั่งสอน คือการที่ผู้สอนอาจจะมีความผิดพลาด เนื่องจากความประมาท เราควรให้อภัยต่อผู้สอน เพราะการจับผิดทำให้ผู้สอนต้องอับอายขายหน้าได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีงาม
๔.เคารพต่อคำสอนและผู้สอน คือการรู้จักสัมมาคารวะต่อผู้ทำให้คำสอน และเคารพในสิ่งที่ผู้สอนได้นำมาแนะนำ
๕.มีความอ่อนน้อมถ่อมตน คือไม่แสดงความยะโส ถือตัวว่าอยู่เหนือผู้อื่นเพราะสิ่งที่ตัวเองเป็นตัวเองมี
๖.มีความยินดีต่อคำสอนนั้น คือยอมรับในคำสอนนั้นๆ ด้วยความยินดีเช่นการไม่แสดงความเบื่อหน่ายเพราะเคยฟังมาแล้ว เป็นต้น
๗.ไม่ดื้อรั้น คือการไม่อวดดี คิดว่าของตัวเองนั้นผิดแต่ก็ยังดันทุรังทำต่อไปเพราะกลัวเสียชื่อ เสียฟอร์ม
๘.ไม่ข้ดแย้ง เพราะว่าการว่ากล่าวตักเตือนหรือสั่งสอนนั้นก็คือ สิ่งที่ตรงข้ามกับที่เราทำอยู่แล้ว เราควรต้องเปิดใจให้กว้างไม่ขัดแย้งต่อคำสอน คำวิจารณ์นั้นๆ
๙.ยินดีให้ตักเตือนได้ทุกเวลา คือการยินดีให้มีการแสดงความคิดเห็นตักเตือนได้โดยไม่มีข้อยกเว้นเรื่องเวลา
๑๐.มีความอดทนต่อการเป็นผู้ถูกสั่งสอน คือการไม่เอาความขัดแย้งในความเห็นเป็นอารมณ์ แต่ให้เข้าใจเจตนาที่แท้จริงของผู้สอนนั้น
การทำให้เป็นคนว่าง่ายนั้นทำได้ดังนี้
๑.ลดมานะของตัว คือการไม่ถือดี ไม่ถือตัว ความไม่สำคัญตัวเองว่าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ อาทิเช่นถือตัวว่าการศึกษาดีกว่าเป็นต้น
๒.ละอุปาทาน คือการไม่ยึดถือในสิ่งที่เรามี เราเป็น หรือถือมั่นในอำนาจกิเลสต่างๆ
๓.มีสัมมาทิฏฐิ คือมีปัญญาที่เห็นชอบ การเห็นถูกเห็นควรตามหลักอริยสัจ ๔ เชื่อเรื่องความไม่เที่ยง เชื่อในเรื่องบุญเรื่องบาปเป็นต้น


๒๙.การได้เห็นสมณะ
คำว่าสมณะแปลตรงตัวได้ว่า ผู้สงบ (หมายถึงผู้อยู่ในสมณเพศ) ท่านว่าคุณสมบัติของสมณะต้องประกอบไปด้วย ๓ อย่างคือ
๑.ต้องสงบกาย คือมีความสำรวมในการกระทำทุกอย่าง รวมถึงกิริยา มรรยาท ตามหลักศีลธรรม
๒.ต้องสงบวาจา คือการพูดจาให้อยู่ในกรอบของความพอดี มีความสุภาพสงบเสงี่ยมในคำพูดและภาษาที่ใช้ เป็นไปตามข้อปฏิบัติ ประเพณี
๓.ต้องสงบใจ คือการทำใจให้สงบปราศจากกิเลสครอบงำ ไม่ว่าจะเป็น โลภ โกรธ หลง หรือความพยาบาทใดๆ ตั้งมั่นอยู่ในสมาธิภาวนา
การได้เห็นสมณะมีอยู่ดังนี้คือ
๑.เห็นด้วยตา ความหมายก็ตรงตัวคือการเห็นจากการสัมผัสด้วยสายตาของตนเอง แล้วมีความประทับใจในความสำรวมในกาย
๒.เห็นด้วยใจ เนื่องจากความสำรวมกาย วาจา ใจของสมณะจะช่วยโนัมน้าวจิตใจของเราให้โอนอ่อนผ่อนตาม และรับฟังหลักคำสอนด้วยใจที่ยินดี ซึ่งนั่นก็หมายถึงการเปิดใจเราให้สมณะได้ชี้นำนั่นเอง
๓.เห็นด้วยปัญญา หมายความถึงการรู้โดยการใช้ปัญญาใคร่ครวญ พิจารณาในการสัมผัสและเข้าถึงและรับรู้ถึงคำสอนของสมณะผู้นั้น และรู้ว่าท่านเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอย่างแท้จริง
เมื่อเห็นแล้วก็ต้องทำอย่างนี้คือ
๑.ต้องเข้าไปหา คือเข้าไปขอคำแนะนำ ชี้แนะจากท่าน หรือให้ความเคารพท่าน
๒.ต้องเข้าไปบำรุงช่วยเหลือ คือการช่วยเหลือท่านในโอกาสอันควร เพื่อแบ่งเบาภาระของท่าน
๓.ต้องเข้าไปฟัง คือการรับฟังคุณธรรม หลักคำสอนของท่านมาไว้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาชีวิต
๔.หมั่นระลึกถึงท่าน คือการระลึกถึงความดีที่ท่านมีแล้วนำมาเป็นตัวอย่างกับตัวเราเอง
๕.รับฟังรับปฏิบัติ คือการรับคำแนะนำของท่านมาปฏิบัติทำตามเพื่อให้เกิดผล ครั้นเมื่อติดขัดก็ใคร่แก้ไขเพื่อให้รู้จริงเห็นจริงตามนั้น


๓๐.การสนทนาธรรมตามกาล
การได้สนทนากันเรื่องธรรม ทำให้ขยายขอบเขตการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ และได้รู้ในสิ่งใหม่ๆ ที่เราอาจนึกไม่ถึง หรือเป็นการเผื่อแผ่ความรู้ที่เรามีให้แก่ผู้อื่นได้ทราบด้วย
ก่อนที่เราจะสนทนาธรรม ควรต้องพิจารณาและคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้คือ
๑.ต้องรู้เรื่องที่จะพูดดี
๒.ต้องพูดเรื่องจริง มีประโยชน์
๓.ต้องเป็นคำพูดที่ไพเราะ
๔.ต้องพูดด้วยความเมตตา
๕.ต้องพูดจาโอ้อวด ยกตนข่มท่าน
ข้อปฏิบัติเมื่อมีการสนทนาธรรม
๑.มีศีลธรรม คือการเป็นผู้ที่รักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ เป็นนิจศีลอยู่แล้ว การเป็นผู้ปฏิบัติถือเป็นหน้าที่ขั้นต้นในการเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี
๒.มีสมาธิดี คือการมีจิตใจจดจ่ออยู่กับเรื่องที่สนทนา ไม่ว่อกแวก พร้อมทั้งเป็นผู้ที่หมั่นเจริญสมาธิภาวนาด้วย
๓.แต่งการสุภาพ คือการแต่งตัวให้เหมาะสมกับยุคสมัย อยู่ในกรอบประเพณีของสังคมแวดล้อม ณ ที่นั้นๆ ถูกกาลเทศะ
๔.มีกิริยาสุภาพ คือมีความสุภาพในท่วงท่าไม่ว่าจะเดิน นั่ง ยืน หรือการกระทำใดๆ การที่มีกิริยางดงาม สุภาพย่อมโน้มน้าวจิดใจผู้พบเห็นให้เกิดความประทับใจที่ดี
๕.ใช้วาจาสุภาพ คือการใช้ถ้อยคำที่สุภาพในการสนทนา ไม่ใช้คำหยาบคาย หรือก้าวร้าว
๖.ไม่กล่าวค้านพระพุทธพจน์ คือการไม่นำเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นข้อสงสัย หรือกล่าวค้าน เพราะสิ่งที่กล่าวไว้ในพระพุทธพจน์ย่อมเป็นความจริงตลอดกาล
๗.ไม่ออกนอกประเด็นที่ตั้งไว้ คือการพูดให้อยู่ในหัวข้อที่ตั้งไว้ ไม่พูดแบบน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง
๘.ไม่พูดนานจนน่าเบื่อ คือการเลือกเวลาที่เหมาะสมตามสถานการณ์ เนื่องจากเรื่องบางเรื่องอาจไม่จำเป็นต้องขยายความมากเกินไป


๓๑.การบำเพ็ญตบะ
ตบะ โดยความหมายแปลว่า ทำให้ร้อน ไม่ว่าด้วยวิธีใด การบำเพ็ญตบะหมายความถึงการทำให้กิเลส ความรุ่มร้อนต่างๆ หมดไป หรือเบาบางลง ลักษณะการบำเพ็ญตบะมีดังนี้
๑.การมีใจสำรวมในอินทรีย์ทั้ง ๖ (อายตนะภายใน ๖ อย่าง) ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่ให้หลงติดอยู่กับสัมผัสภายนอกมากเกินไป ไม่ให้กิเลสครอบงำใจเวลาที่รับรู้อารมณ์ผ่านอินทรีย์ทั้ง ๖ (อินทรีย์สังวร)
๒.การประพฤติรักษาพรหมจรรย์ เว้นจากการร่วมประเวณี หรือกามกิจทั้งปวง
๓.การปฏิบัติธรรม คือการรู้และเข้าใจในหลักธรรมเช่นอริยสัจ เป็นต้น ปฏิบัติตนให้อยู่ในศีล และถึงพร้อมด้วยสมาธิ และปัญญา โดยมีจุดหมายสูงสุดที่พระนิพพาน กำจัดกิเลส ละวางทุกสิ่งได้หมดสิ้นด้วยปัญญา


๓๒.การประพฤติพรหมจรรย์
คำว่าพรหมจรรย์หมายความถึง การบวชซึ่งละเว้นเมถุน การครองชีวิตที่ปราศจากเมถุน การประพฤติธรรมอันประเสริฐ ท่านว่าลักษณะของธรรมที่ถือว่าเป็นการประพฤติพรหมจรรย์นั้น (ไม่ใช่ว่าต้องบวชเป็นพระ) มีอยู่ดังนี้คือ
๑.ให้ทาน บริจาคทานไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ สิ่งของ เงินทอง หรือปัญญา
๒.ช่วยเหลือผู้อื่นในกิจการงานที่ชอบ ที่ถูกที่ควร (เวยยาวัจจมัย)
๓.รักษาศีล ๕ คือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ทำผิดในกาม ไม่พูดปด ไม่ดื่มน้ำเมา (เบญจศีล)
๔.มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขากับคนที่เราต้องพบปะด้วยทุกคน (อัปปมัญญา)
๕.งดเว้นจากการเสพกาม (เมถุนวิรัติ)
๖.ยินดีในคู่ของตน คือการมีสามีหรือภรรยาคนเดียว (สทารสันโดษ)
๗.เพียรพยายามที่จะละความชั่ว ไม่ท้อถอยในความบากบั่น (วิริยะ)
๘.รักษาซึ่งศีล ๘ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ร่วมประเวณี ไม่พูดปด ไม่ดื่มน้ำเมา ไม่บริโภคอาหารตั้งแต่เที่ยงวันเป็นต้นไป ไม่ฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการละเล่น ใช้ของหอมหรือเครื่องประดับ ไม่นอนบนที่สูงใหญ่ หรูหรา (อุโบสถ)
๙.ใช้ปัญญาเห็นแจ้งใน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (อริยธรรม)
๑๐.ศึกษาปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา ให้รู้แจ้งเห็นจริง (สิกขา)
*ขออธิบายเพิ่มเติมว่าข้อ ๕ ที่บอกว่าให้งดเว้นการเสพกาม แต่ข้อ ๖ ให้ยินดีในคู่ของตนนั้น เพราะว่าการประพฤติพรหมจรรย์ในที่นี้หมายถึง บุคคลทั่วไปที่อาจมีครอบครัวแล้ว ก็ประพฤติพรหมจรรย์ได้โดยการงดเว้นการร่วมประเวณี เช่นในวันสำคัญๆเป็นต้น


๓๓.การเห็นอริยสัจ
อริยสัจ หมายถึงความจริงอันประเสริฐ หลักแห่งอริยสัจมีอยู่ ๔ ประการตามที่ท่านได้สั่งสอนไว้มีดังนี้
๑.ทุกข์ คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความเป็นจริงของสัตว์โลกทุกผู้ทุกนามต้องมีทุกข์ ๓ ประการคือ การเกิด ความแก่ ความตาย นอกจากนี้ก็มีความทุกข์ที่เป็นอาการ หรือเกิดจากสภาพแวดล้อมสรุปได้ดังนี้คือ
-ความโศกเศร้า (โสกะ)
-ความรำพันด้วยความเสียใจ (ปริเทวะ)
-ความเจ็บไข้ได้ป่วย (ทุกขะ)
-ความเสียใจ (โทมนัสสะ)
-ความท้อแท้ สิ้นหวัง คับแค้นใจ (อุปายาสะ)
-การตรอมใจ ผิดหวังจากสิ่งที่ไม่รัก (อัปปิเยหิ สัมปโยคะ)
-การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก (ปิเยหิ วิปปโยคะ)
-ความหม่นหมองเมื่อปรารถนาแล้วไม่ได้สิ่งนั้น (ยัมปิจฉัง นลภติ)
๒.สมุทัย คือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ นอกจากเหตุแห่งทุกข์ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ต้นตอของทุกข์ก็อยู่ที่ใจของเราด้วยนั่นก็คือความอยาก ท่านว่าเป็นตัณหา ๓ อย่าง ซึ่งแบ่งออกได้เป็นดังนี้คือ
-ความอยากได้ หมายรวมถึงอยากทุกอย่างที่นำมาสนองสัมผัสทั้ง ๕ และกามารมณ์ (กามตัณหา)
-ความอยากเป็น คือความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ (ภวตัณหา)
-ความไม่อยากเป็น คือความไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ (วิภวตัณหา)
๓.นิโรธ คือความดับทุกข์ ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป ความหลุดพ้น หรือหมายถึงภาวะของพระนิพพานนั่นเอง
๔.มรรค คือข้อปฏิบัติ หรือหนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ การเดินทางสายกลางเพื่อไปให้ถึงการดับทุกข์ คือ มรรคมี ๘ ประการ คือ
-ความเห็นชอบ เช่นความศรัทธาในเบื้องต้นต่อหลักธรรม คำสอน เช่นการเชื่อว่ากรรมดีกรรมชั่วมีจริงเป็นต้น (สัมมาทิฏฐิ)
-ความดำริชอบ หรือความคิดชอบ มีความคิดที่ถูกต้องตามหลักธรรม เช่นการใช้ปัญญาพิจารณาความไม่เที่ยงของสังขาร หรือการไม่คิดอยากได้ของเขามาเป็นของเราเป็นต้น (สัมมาสังกัปปะ)
-เจรจาชอบ คือการปฏิบัติตามหลักธรรม ไม่พูดโกหก ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อเป็นต้น (สัมมาวาจา)
-ทำการชอบ หรือการมีการกระทำที่ไม่ผิดหลักศีลธรรม เช่นไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์เป็นต้น (สัมมากัมมันตะ)
-เลี้ยงชีพชอบ คือการทำมาหากินในทางที่ถูก ไม่เบียดเบียนหรือทำความเดือดร้อนให้กับสัตว์หรือผู้อื่น อยู่ในหลักธรรมที่กำหนด เช่น ไม่มีอาชีพค้ามนุษย์ หรืออาชีพค้าอาวุธเป็นต้น (สัมมาอาชีวะ)
-ความเพียรชอบ คือการหมั่นทำนุบำรุงในสิ่งที่ถูกต้อง อาทิเช่นการพยายามละกิเลสออกจากใจ หรือการพยายามสำรวม กาย วาจา ใจให้ดำเนินตามหลักธรรมของท่านเป็นต้น (สัมมาวายามะ)
-ความระลึกชอบ คือมีสติตั้งมั่นในสิ่งที่ถูกต้องตามหลักธรรม เช่นการพึงระลึกถึงความตายที่ต้องเกิดกับทุกคนเป็นต้น (สัมมาสติ)
-จิตตั้งมั่นชอบ คือมีจิตที่มีสมาธิ ไม่ว่อกแวกหรือคิดฟุ้งซ่าน และการทำสมาธิภาวนาตามหลักการที่ท่านได้บัญญัติแนะนำเอาไว้ (สัมมาสมาธิ)


๓๔.การทำให้แจ้งในพระนิพพาน
นิพพาน คือ ภาวะของจิตที่ดับกิเลสได้หมดสิ้น หลุดจากอำนาจกรรม และไม่ต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏอีก ซึ่งก็คือพ้นจากทุกข์นั่นเอง
ท่านว่าลักษณะของนิพพานมีอยู่ ๒ ระดับดังนี้คือ
๑.การดับกิเลสขณะที่ยังมีเบญจขันธ์เหลืออยู่ หรือการเข้าถึงนิพพานขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ -สอุปาทิเสสนิพพาน
๒.การดับกิเลสที่ไม่มีเบญจขันธ์เหลืออยู่เลย คือการที่ร่างกายเราแตกดับแล้วไปเสวยสุขอันเป็นอมตะในพระนิพพาน (ตรงนี้ไม่สามารถอธิบายให้กระจ่างมากไปกว่านี้ได้) -อนุปาทิเสสนิพพาน
การที่จะเข้าถึงพระนิพพานได้ ก็ต้องปฏิบัติธรรมและเจริญสมาธิภาวนาจนถึงขั้นสูงสุด


๓๕.มีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม
คำว่าโลกธรรม มีความหมายถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำบนโลกนี้ ซึ่งเราไม่ควรมีจิดหวั่นไหวต่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ท่านว่าลักษณะของโลกธรรมมี ๔ ประการคือ
๑.การได้ลาภ เมื่อมีลาภผลก็ย่อมมีความเสื่อมเป็นธรรมดา มีแล้วก็ย่อมหมดไปได้ เป็นแค่ความสุขชั่วคราวเท่านั้น
๒.การได้ยศ ยศฐาบรรดาศักดิ์ล้วนเป็นสิ่งสมมุติขึ้นมาทั้งนั้น เป็นสิ่งที่คนยอมรับกันว่าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ พอหมดยศก็หมดบารมี
๓.การได้รับการสรรเสริญ ที่ใดมีคนนิยมชมชอบ ที่นั่นก็ย่อมต้องมีคนเกลียดชังเป็นเรื่องธรรมดา การถูกนินทาจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ
๔.การได้รับความสุข ที่ใดมีสุขที่นั่นก็จะมีทุกข์ด้วย มีความสุขแล้วก็อย่าหลงระเริงไปจนลืมนึกถึงความทุกข์ที่แฝงมาด้วย
การทำให้จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม มีวิธีดังนี้คือ
๑.ใช้ปัญญาพิจารณา โดยตั้งอยู่ในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา พิจารณาอยู่เนืองๆ ถึงหลักธรรมต่างๆ
๒.เจริญสมาธิภาวนา ใช้กรรมฐานพิจารณาถึงความเป็นไปในความไม่เที่ยงในสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก และสังขาร


๓๖.มีจิตไม่โศกเศร้า
ท่านว่ามีเหตุอยู่ ๒ ประการที่ทำให้จิตเราต้องโศกเศร้าคือ
๑.ความโศกเศร้าที่เกิดเนื่องมาจากความรัก รวมถึงรักสิ่งของ ทรัพย์สินเงินทองด้วย
๒.ความโศกเศร้าที่เกิดจากความใคร่
การทำให้จิตใจไม่โศกเศร้านั้น มีข้อแนะนำดังนี้
๑.ใช้ปัญญาพิจารณาอยู่เนืองๆ ถึงความไม่เที่ยงในสิ่งของทั้งหลาย และร่างกายของเรา
๒.ไม่ยึดมั่นในตัวตน หรือความจีรังยั่งยืน ในคนหรือสิ่งของว่าเป็นของเรา
๓.ทุกอย่างในโลกล้วนเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ แม้ร่างกายเราก็ใช้เป็นที่อาศัยชั่วคราวเท่านั้น
๔.คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่เที่ยงด้วยกันทั้งนั้น


๓๗.มีจิตปราศจากกิเลส
กิเลส ก็คือสิ่งที่ทำให้เกิดความเศร้าหมอง ซึ่งได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ท่านได้แบ่งประเภทของกิเลสออกเป็นดังนี้ คือ
๑.ราคะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น
-ความโลภอย่างแรงจนแสดงออกมา เช่นการลักขโมย ปล้น จี้ ข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น (อภิชฌาวิสมโลภะ)
-ความเพ่งเล็งจะเอาของคนอื่นมาเป็นของตัว มีใจอยากได้ของคนอื่นแต่ยังไม่ถึงกับแสดงออก (อภิชฌา)
-ความอยากได้ในทางไม่ชอบ เช่นการยอมรับสินบน การทุจริตเพื่อแลกกับการมีทรัพย์เป็นต้น (ปาปิจฉา)
-ความมักมากเห็นแก่ได้ ด้วยการเอามาเป็นของตนจนเกินพอดี เอาประโยชน์ใส่ตัวโดยไม่คำนึงถึงคนอื่น (มหิจฉา)
-ความยินดีในกาม ก็คือยังไม่สามารถละกิจกรรมทางเพศได้ ยังมีความรู้สึก มีแรงกระตุ้น มีความพอใจในเรื่องเพศ (กามระคะ)
-ความยินดีในรูปธรรมอันปราณีต ก็คือติดอยู่ในอารมณ์ของรูปฌาณ ปรารถนาในรูปของภพเมื่อทำสมาธิขั้นสูงขึ้นไป (รูปราคะ)
-ความยินดีในอรูปฌาณ ก็คือติดอยู่ในอารมณ์ของอรูปฌาณเมื่อทำสมาธิถึงภพของอรูปพรหม (อรูปราคะ)
๒.โทสะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น
-พยาบาท คือการผูกใจอาฆาต มีใจที่ไม่หวังดี การจองเวร
-โทสะ คือการคิดประทุษร้าย เนื่องด้วยมีใจพยาบาทแล้วก็มีใจคิดหมายทำร้าย
-โกธะ คือความโกรธ ความเดือดร้อนใจ ซึ่งล้วนเป็นเหมือนไฟที่เผาตัวเอง
-ปฏิฆะ คือความขัดใจ ความไม่พอใจอันทำให้อารมณ์หงุดหงิด
๓.โมหะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น
-ความเห็นผิดเป็นชอบ เช่นการไม่เชื่อในเรื่องบาป เรื่องบุญเป็นต้น (มิจฉาทิฐิ)
-ความหลงผิด ไม่รู้ตามความเป็นจริง (โมหะ)
-การเห็นว่ามีตัวตน เช่นการเชื่อในสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่าเท่านั้น (สังกายทิฏฐิ)
-ความสงสัย คือสงสัยในพระธรรม คำสั่งสอนในเรื่องการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ (วิจิกิจฉา)
-การยึดถืออย่างงมงาย เช่นการไปกราบไหว้สัมพเวสีที่อยู่ตามต้นไม้ ขอลาภเป็นต้น (สีลัพพตปรามาส)
-ความถือตัว คือการสำคัญตัวเองผิดว่าเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ (มานะ)
-ความฟุ้งซ่าน คือการที่จิตใจว่อกแวก คิดไม่เป็นสาระ ไม่อยู่กับร่องกับรอย ไม่มีสมาธิ หรือการทำสมาธิไม่นิ่ง (อุทธัจจะ)
-ความไม่รู้จริง คือการที่รู้แค่ผิวเผิน หรือการทึกทักเอาเอง ไม่ปฏิบัติตามหลักพระธรรม ยังไม่เกิดปัญญา (อวิชชา)
โทษของการมีกิเลสดังกล่าวข้างต้นพอสรุปได้สั้นๆ ดังนี้คือ
๑.ราคะ มีโทษน้อย แต่คลายช้า
๒.โทสะ มีโทษมาก แต่คลายเร็ว
๓.โมหะ มีโทษมาก แต่คลายช้า


๓๘.มีจิตเกษม
เกษม หมายถึงมีความสุข สบาย หรือสภาพที่มีจิตใจที่เป็นสุข มีจิดเกษมก็คือว่ามีจิตที่เป็นสุขในที่นี้หมายถึงการละแล้วซึ่งกิเลส ที่ท่านว่าไว้ว่าเป็นเครื่องผูกอยู่ ๔ ประการคือ
๑.การละกามโยคะ คือการละความยินดีในวัตถุ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายเรียกว่ากามคุณซึ่งประกอบด้วย รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส
๒.การละภวโยคะ คือการละความยินดีในภพ โดยให้เห็นว่าสิ่งใดๆในโลกล้วนไม่เที่ยงแท้ หรือคงอยู่ตลอดไป
๓.การละทิฏฐิโยคะ คือการละความยินดีในความเห็นผิดเป็นชอบ โดยให้ดำเนินตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่กล่าวมาแล้ว
๔.การละอวิชชาโยคะ คือการละความยินดีในอวิชชาทั้งหลาย ความไม่รู้ทั้งหลาย โดยให้มุ่งปฏิบัติเพื่อปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง