Wellcome

ยินดีต้อนรับกัลยาณมิตร ขณะนี้วีดีโอสามารถรับชมได้แล้ว โปรดรับชมตามอัธยาศัย

วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การพัฒนาปัญญาหรือการพัฒนาพุทธิภาวะ

รูปภาพ




การพัฒนาพุธิภาวะ

โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)


ตามที่ประมวลมาจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ยกมาแสดงไว้ ๕ ประการคือ

๑) ปรโตโฆสะ


หมายถึง การมีสภาพแวดล้อมที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ กัลยาณมิตร สำคัญมาก ถ้าเราได้พบกัลยาณมิตรที่ดีจะส่งเสริมให้เรามีปัญญาขึ้น เช่น การที่เราคบค้าสมาคมกับผู้มีศีลมีธรรม เรียกว่า สัปปุริสสังเสวะ คือ การเสวนากับสัตบุรุษ ผู้ใดมาคบค้าสมาคมกับคนดี ย่อมมีปัญญามีคุณธรรมเกิดขึ้น

ตัวอย่างเรื่องสมัยพุทธกาล ยกเป็นตัวอย่างถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม แม้แต่สัตว์เดรัจฉานยังคล้อยตาม อยู่ใกล้อะไรก็เป็นอย่างนั้น

พระโพธิสัตว์ ถือกำเนิดเป็นอำมาตย์ในเมืองพาราณสีมีช้างมงคลเชือกหนึ่งชื่อมหิลามุข เป็นช้างดีที่ฝึกมาดีมีระเบียบเรียบร้อย แต่อยู่มาวันหนึ่งเกิดผิดปรกติ จับควาญช้างฟาดตาย คนอื่นๆ ก็ตายไปอีกหลายคน พระราชาแปลกพระทัย จึงให้อำมาตย์มาตรวจดูว่าเกิดอะไรขึ้น ช้างจึงผิดปรกติกลายเป็นช้างดุร้ายนิสัยไม่ดี

อำมาตย์ไปตรวจดู และสอบถามคนข้างเคียงในบริเวณโรงช้าง ว่ามีอะไรแปลกๆ เข้ามาในบริเวณนี้บ้างไหม คนแถวนั้นตอบว่า มักมีพวกโจรมาปรึกษาวางแผนกันใกล้ๆ โรงช้างว่าจะไปปล้นไปโจรกรรมเป็นประจำ อำมาตย์ได้ฟังจึงทราบว่าเพราะสิ่งแวดล้อมของช้างไม่ดีนี่เอง ไปใกล้ชิดกับคนพาล ช้างจึงกลายเป็นช้างพาล

จึงกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ เมื่อพระองค์ทราบแล้วจึงให้อำมาตย์ไปแก้ปัญหา อำมาตย์จึงนิมนต์พระสงฆ์ที่มีศีลมีคุณธรรม ไปสนทนาธรรมกันใกล้ๆ โรงช้าง พระสงฆ์ท่านก็ไปสนทนาเรื่อง คุณของศีลบ้าง คุณธรรมต่างๆ บ้าง เป็นอย่างนี้อยู่หลายวัน ปรากฏว่าช้างกลับใจ เปลี่ยนนิสัย กลายเป็นช้างเรียบร้อยขึ้นมา จึงถือว่าสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลสำคัญ พระพุทธองค์จึงตรัสไว้ในมงคลสูตรว่า

"อเสวนา จ พาลานํ การไม่คบคนพาล

ปณฺฑิตานญฺ จ เสวนา การคบบัณฑิต
ปูชา จ ปูชนียานํ บูชาบุคคลที่ควรบูชา
เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เป็นมงคลอันสูงสุด"


อีกพระชาติหนึ่ง พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ เกิดในตระกูลอำมาตย์เป็นปุโรหิตมีม้ามงคล อยู่ดีๆ ม้าเดินขาลาก พระราชาให้หมอไปตรวจดูสุขภาพม้าว่าสุขภาพดีทุกอย่างแต่เดินขาลาก หมอหาสาเหตุไม่พบ จึงทรงให้ปุโรหิตไปดูว่าเป็นเพราะอะไร ปุโรหิตไปดูพบว่าคนเลี้ยงม้าขาพิการจูงม้าไปเลี้ยง ม้านึกว่าคนเลี้ยงสอนให้เดินขาลากแบบนั้น มันจึงเอาอย่าง ปุโรหิตทราบสาเหตุจึงไปกราบทูลพระราชา พระราชาจึงให้เปลี่ยนคนเลี้ยงม้าใหม่ เอาคนขาดีๆ มาเลี้ยง ม้าจึงกลับเดินดี เดินตามปรกติได้

๒) สุตะ

หมั่นฟัง เรียนรู้ รู้จักสดับฟัง เล่าเรียนเขียนอ่านในพระสัทธรรม ให้มากให้บ่อย การฟังการเรียนรู้ในธรรมที่ถูกต้อง เรียกว่าสัทธรรมเสวนา เป็นเหตุเป็นปัจจัยอีกข้อหนึ่งในการพัฒนาปัญญาของเรา

๓) ธรรมสากัจฉา

การสนทนาธรรม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ต้องหมั่นไต่ถามซักถาม จะเกิดความเข้าใจได้เร็วขึ้น สังเกตตัวอย่างจากประสบการณ์ที่ได้อบรมญาติโยมเข้ากรรมฐาน อธิบายวิธีการอย่างครบถ้วนเรียบร้อย แต่โยมไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจ ต้องเรียกมาถามมาสอบอารมณ์รายบุคคล ต้องให้เขาถามบ้าง ต้องตอบไปให้ตรงปัญหาเป็นคนๆ ที่รู้เรื่อง ฟังรวมๆ กันไม่ค่อยรู้ อาจรู้บ้าง แต่ถ้าได้มีโอกาสโต้ตอบซักถามสนทนา ความเข้าใจจะพัฒนาได้เร็วขึ้น

๔) โยนิโสมนสิการ

คือ การทำไว้โดยแยบคาย คือ การคิดอย่างถูกวิธี การพิจารณา การรู้จักพิจารณาเป็นสิ่งสำคัญ บางทีเราฟังแล้วก็ผ่านไป เราต้องเอามาคิดพิจารณา พิจารณาอย่างไรให้ถูกวิธี ดีที่สุด คือ คิดพิจารณาตามคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่าคิดเองเรื่อยเปื่อยไป ต้องเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาตั้งไว้เป็นหลัก แล้วคิดพิจารณาไปตามนั้น

ตอนแรกเราอ่านเราฟังอาจไม่รู้เรื่อง แต่ถ้ามีหลักการจากคำสอนของพระพุทธเจ้าเราก็คิดพิจารณาตามนั้น จะค่อยๆเข้าใจขึ้น ปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิจะเจริญขึ้นได้ต้องอาศัยโยนิโสมนสิการ

ตัวอย่างเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อ

มีชาดกเรื่องหนึ่งที่เป็นตัวอย่างให้คิดพิจารณาอะไรให้แยบคาย จึงจะเกิดปัญญาขึ้นมา ในปัจจุบันมีหลายเรื่องที่เราทำตามๆ กัน ไม่รู้ว่าผิดหรือถูก เช่น การเปลี่ยนชื่อ การถือทิศทาง มีเรื่องของพระโพธิสัตว์ในสมัยอดีตชาติ ท่านเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ มีลูกศิษย์อยู่ ๕๐๐ ที่เมืองตักกสิลา มีลูกศิษย์คนหนึ่งอยากเปลี่ยนชื่อ ชื่อเขาถูกล้อเลียนอยู่เรื่อยๆ เขาชื่อว่า "ปาปกะ" แปลว่านายชั่ว จึงมาหาอาจารย์ให้เปลี่ยนชื่อให้

อาจารย์หรือพระโพธิสัตว์ ก็บอกให้ลองเที่ยวไปในโลกกว้างดู พอใจชื่อไหนก็มาบอก จะได้เปลี่ยนให้ตามนั้น

นายปาปกะ หรือ นายชั่ว จึงออกจากสำนักอาจารย์ไปในสถานที่ต่างๆ เพื่อจะดูว่าชื่อไหนดี ชื่อไหนไม่ดี คราวหนึ่งไปเจอคนกำลังหามศพมา นายชั่วจึงถามว่า คนตายชื่ออะไร คิดว่าจะได้ไม่เอาชื่อนี้มาตั้ง คนหามศพตอบว่า คนตายชื่อนาย"อยู่" นายชั่วนึกขำในใจว่าชื่อ"อยู่"ยังตายได้

เดินต่อไปเจอหญิงคนหนึ่ง ถูกเขาจับเฆี่ยน เฆี่ยนแล้วเฆี่ยนอีก นายชั่วเข้าไปถามนางว่าเกิดอะไรขึ้น นางตอบว่าเป็นหนี้เขา ไม่มีเงินใช้หนี้เพราะยากจนอยู่เลยถูกเขาเฆี่ยนตี นายชั่วจึงถามว่า "เธอชื่ออะไร" นางตอบว่าชื่อนาง"รวย" นายชั่วก็คิดว่าชื่อนางรวยยังเป็นหนี้เขาได้

เดินต่อไปพบชายชราเดินวกวนอยู่ในป่า จึงเข้าไปถามว่าเดินวกวนอยู่ทำไม ชายชราตอบว่า หลงป่าอยู่หาทางออกไม่ได้ นายชั่วถามว่า "แล้วท่านชื่ออะไรล่ะ" ชื่อนาย"ฉลาด" (ปัณณกะ แปลว่า ผู้ชำนาญทาง) นายชั่วฟังแล้วนึกขำอยู่ในใจ

ในที่สุดนายชั่วก็กลับมาบอกอาจารย์ว่า ไม่ต้องการเปลี่ยนชื่อแล้ว เอาชื่อ ปาปกะ หรือนายชั่วเหมือนเดิมนี่แหละ

สรุปว่าชื่อนั้นสำคัญไฉน ปัจจุบันเห็นเปลี่ยนกันอยู่เรื่อยๆ บางคนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหลายหน หากเราใช้ปัญญาพิเคราะห์พิจารณาให้ดีว่ามันเกี่ยวกันอย่างไร ในเมื่อมันเป็นเป็นเพียงชื่อ ความสุขทุกข์ ความเจริญความเสื่อมของคนเรา ขึ้นอยู่กับการกระทำคือกรรมดีกรรมชั่วที่ตัวทำไว้เป็นสำคัญ ชื่อเป็นเพียงสมมติ ตั้งให้โก้เก๋ แต่ไม่ได้อำนวยความสุขความเจริญให้เราได้ ดังตัวอย่างในชาดกที่เล่ามา

๕) ธัมมานุธัมมปฏิบัติ

คือ การปฏิบัติธรรมที่สมควรแก่ธรรม ตั้งแต่

- การสำรวมในศีล ระวังรักษากาย วาจา ใจ ของเราให้เรียบร้อย

- การเคารพในอาจารย์

- การปรารภความเพียร

- การเจริญสมถะและวิปัสสนา เป็นต้น


สิ่งเหล่านี้เราต้องเสริมขึ้น เช่น ปฏิบัติตนอยู่ในศีล การเคารพอาจารย์นี้ท่านก็แสดงไว้ว่าเป็นเหตุอันหนึ่ง ถ้าเราเรียนรู้กับใคร แต่ไม่มีความเคารพเชื่อถือท่านเลย ก็เป็นการยากที่เราจะเข้าใจในปัญญาความรู้ของอาจารย์ เช่น สมัยนี้เด็กนักเรียนไม่ค่อยมีความเคารพครูบาอาจารย์เท่าไหร่ จึงเรียนหนังสือไม่ค่อยรู้เรื่อง สมัยก่อนมีความเคารพมาก บางครั้งอาจารย์ก็ทดสอบก่อน ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าศิษย์มีความเคารพ ปฏิบัติตามจึงจะรับเข้ามาเป็นศิษย์

ความสำคัญของการพัฒนาปัญญา ที่ว่าธัมมานุธัมมปฏิบัติ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนั้น การเจริญสมถวิปัสสนากรรมฐาน ให้เกิดความสงบเกิดปัญญา เป็นสิ่งสำคัญมาก

ปัญญาระดับนี้เกี่ยวข้องกันกับสุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ส่วนวิปัสสนาเป็นภาวนามยปัญญา แต่อยู่ดีๆ จะโดดมาปฏิบัติวิปัสสนาเลย ก็อาจหลงเข้าป่าอีกเหมือนกัน เราต้องฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาก่อน เราไม่ใช่ระดับพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าที่จะตรัสรู้ได้เอง เราต้องศึกษาฟังคำสั่งสอนจึงเกี่ยวโยงกับสุตตะ และจินตามยปัญญา แล้วจึงจะเข้าถึงภาวนามยปัญญาโดยลงมือปฏิบัติประพฤติเจริญสติภาวนาในที่สุด

การเจริญวิปัสสนา คือ การเข้าไปรู้เห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเราต้องอาศัยการอบรมเจริญสติอยู่เสมอ ตามดู รู้เท่าทัน กาย เวทนา จิต ธรรม ฟังดูว่าอะไรเป็นสมมติอะไรเป็นสภาวะ บางครั้งฟังอย่างเดียวยังไม่เข้าใจ ต้องเอามาคิดพิจารณาโดยอาศัยโยนิโสมนสิการ

เช่น ต้องรู้สภาวะปรมัตถธรรมที่เป็นรูปธรรม นามธรรม ระหว่างปรมัตถ์กับบัญญัติ ถ้าเรากำหนดไปที่รูปร่างกาย เป็นแขนขาหน้าตา นี้คือเป็นบัญญัติ ถ้าเป็นปรมัตถ์ก็คือเป็นความรู้สึก แค่ฟังแค่นี้ก็ไม่เข้าใจหรอก ต้องมาพิจารณาตรวจสอบ เรียกว่ามีโยนิโสมนสิการ ทำไว้ในใจให้แยบคาย จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นจากประสบการณ์ของการปฏิบัติ

การเจริญสติ ให้เข้าถึงวิปัสสนาต้องเข้าถึงสภาวะ บางคนเข้าใจดีถึงสภาวะของกาย แต่สภาวะทางใจกำหนดไม่ได้ ลองให้ทุกท่านทำความเข้าใจสั้นๆ ในเวลานี้ว่าจะสามารถเข้าใจได้หรือไม่ ระหว่างบัญญัติและปรมัตถ์ บัญญัติคือส่วนที่เป็นสมมติเป็นของปลอม ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วไม่เป็นความจริง ส่วนปรมัตถ์คือสภาวธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่จริงๆ


"การพัฒนาพุธิภาวะ" โดย พระครูเกษมธรรมทัต 
ส่วนหนึ่งของหนังสือ "รวมรสบทธรรม"


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น