“ ผู้ที่อ่อนแอไม่สามารถให้อภัยใครได้ เพราะการให้อภัยได้นั้นนับเป็นความเข้มแข็งแท้จริง ”
มหาตมะคานธี
มาลองช่วยกันพิจารณาข้อความนี้นะครับ
หากคุณให้ความรัก ความไว้วางใจ ช่วยเหลือใครสักคน แต่ภายหลังเขากลับไปคบคิดกับคนอื่นให้ร้ายคุณ พูดถึงคุณในทางที่เสียหาย จนคุณต้องได้รับความอับอาย คุณจะให้อภัยเขาคนนั้นได้ไหม
1. ให้อภัยได้ ถ้าคนนั้นได้รับโทษอย่าสาสมเสียก่อน
2. ให้อภัยได้ เพราะเป็นสิ่งดีที่จะให้อภัย ดังเช่นที่พ่อแม่ หรือศาสนาสั่งสอนมา
3. ให้อภัยได้ เพราะจะช่วยให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข
4. ให้อภัยได้ เพราะเป็นการแสดงออกของความรักที่ไม่มีเงื่อนไข
คุณจะเลือกข้อใดที่ตรงใจคุณมากที่สุด
ผมได้ลองถามนักศึกษาแพทย์ปี ๕ ที่เรียนวิชาจิตเวชศาสตร์อยู่รวม ๓๓ คน คำตอบที่ได้จากลูกศิษย์แพทย์กลุ่มนี้น่าสนใจทีเดียวครับมีตอบข้อหนึ่งอยู่ ๑๓ คน ตอบข้อสองอยู่ ๑๒ คน ตอบข้อสามอยู่ ๕ คน และตอบข้อสี่อีก ๓ คน ที่กล่าวมานี้คงไม่ถึงกับเป็นโพลสำรวจนะครับ เพียงอยากจะให้เห็นว่าคนเราแต่ละคนมีมุมมองในเรื่องการให้อภัยที่แตกต่างกันมาก
มนุษย์มีแนวโน้มในจิตใจแต่กำเนิดที่จะโต้ตอบทางลบมากขึ้นต่อคนที่แสดงออกทางลบต่อเรา ธรรมชาตินี้เองเป็นที่มาของการแก้แค้นกันและตอบโต้กันจนไม่รู้จบสิ้น สิ่งนี้เกิดจากอะไร นอกจากมนุษย์แล้ว สิ่งมีชีวิตอื่นมีพฤติกรรมการแก้แค้นเช่นมนุษย์หรือไม่ จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบปรากฏการณ์ของการแก้แค้น เกิดขึ้นได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชั้นสูงบางชนิดด้วย เช่น ลิงชิมแปนซี และพบต่ออีกว่า เมื่อการแก้แค้นเกิดขึ้น การกระทำนั้นมักจะมีความรุนแรงมากกว่าที่ถูกกระทำในตอนแรก จึงมีแนวโน้มให้เกิดวงจรการล้างแค้น ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราพบเห็นตัวอย่างการโต้ตอบที่รุนแรงมากมายในสงครามและประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ การให้อภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยตัดและลดทอนการแก้แค้น ซึ่งมีแต่จะเพิ่มความสูญเสียทั้งสองฝ่าย
พัฒนาการ ของการให้อภัยผู้อื่น เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางจิตใจด้วย พบว่า คนเราสามารถให้อภัยได้มากขึ้นตามอายุ คือคนในวัยสูงอายุจะให้อภัยผู้อื่นได้ง่ายกว่าคนในวัยผู้ใหญ่และมากกว่าคนในวัยรุ่น ซึ่งน่าจะสะท้อนถึงโลกทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปในคนที่ผ่านชีวิตมานานกว่า มีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น นอกจากนี้พัฒนาการของการให้อภัยยังมีลักษณะที่เป็นลำดับขั้นเหมือนที่มนุษย์เรามีพัฒนาการทางร่างกาย จากคลานเป็นนั่ง จนถึงการยืนและเดินตามลำดับ คือใน ขั้นต้น การให้อภัยจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้ที่กระทำผิดได้รับการล้างแค้นหรือการลงโทษอย่างสาสมเสียก่อน ขั้นกลาง คือ การให้อภัย เป็นสิ่งควรทำเนื่อง จากเป็นสิ่งที่สังคมและคำสั่งสอนของพ่อแม่หรือศาสนาสอนไว้ ในขั้นสูงคือ การให้อภัยควรทำเพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคมและในขั้นสูงสุดคือเป็นการแสดงออกของความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ( Unconditional love )
ความจริงแล้วการให้อภัยกลับกลายเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ที่ให้อภัยเอง เพราะการให้อภัยคือการปลดปล่อยตนเองจากซากอดีตที่เจ็บปวดเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ดังที่ คอร์รี่ เทน บูม ( Corrie ten Boom ) ผู้ช่วยเหลือชาวยิวจากค่ายกักกันของนาซีได้กล่าวว่า “ การให้อภัยคือการปลดปล่อยนักโทษ และนักโทษผู้นั้นก็คือคุณนั่นเอง ” และจากประสบการณ์ตรงของเธอเองที่ได้บันทึกไว้ว่า “ ในท่ามกลางเหยื่อที่ถูกนาซีทำทารุณกรรมนั้น ผู้ที่สามารถสร้างชีวิตใหม่ได้ดีและสามารถดำรงชีวิตที่เป็นสุขได้คือ ผู้ที่สามารถให้อภัยต่อความเลวร้ายเหล่านั้น ”
ผลดีอีกประการคือผู้ที่มักให้อภัยผู้อื่นได้ง่ายจะมีความเป็นปฏิปักษ์น้อย ไม่หลงตัวเอง ไม่ชอบครุ่นคิดวนเวียน เป็นคนที่มีนิสัยพูดง่าย ไม่เรื่องมาก ทำให้กังวลและซึมเศร้าน้อยกว่า ป่วยเป็นโรคประสาทน้อยกว่า มีลักษณะที่เข้าอกเข้าใจผู้อื่นมากกว่า การให้อภัยจึงเป็นเสมือนภูมิคุ้มกันโรคทางจิต เพิ่มสุขภาพจิตที่ดีสำหรับตัวผู้ให้อภัยนั้นเอง ผมจึงอยากชวนท่านผู้อ่านได้ทบทวนไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งและตั้งใจอย่างแน่วแน่ เพื่อที่จะช่วยกันปลดปล่อยความเคืองแค้นที่ยังฝังใจ เพื่อให้จิตใจได้รับอิสรภาพและเกิดความสุขสงบทางใจ
การที่จะให้อภัยแก่บุคคลผู้ที่เคยทำให้เราเจ็บปวด แม่ชีเทเรซ่าสอนว่า
“ เพื่อที่จะให้อภัยใครบางคนที่ทำให้เราปวดร้าว เพื่อที่จะเริ่มต้นใหม่กับผู้ที่เคยทำให้เราผิดหวัง เพื่อที่จะคงความเสียสละไว้แม้เคยถูกหลอกลวง เหล่านี้แม้หากจะเจ็บปวด แต่เป็นการให้อภัยและเป็นรักที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว ”
Secret Box
• การให้อภัยเป็นเครื่องพัฒนาการของจิตใจ
• การให้อภัยที่สูงที่สุดเป็นการแสดงออกของความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข
• จงเริ่มด้วยการตั้งจิตที่แน่วแน่ในการให้อภัยใครบางคนที่เคยทำให้เราเจ็บปวด
• การให้อภัยจะนำให้เกิดอิสรภาพและความสุขในชีวิต
บทความจากนิตยสารซีเคร็ต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น