Wellcome

ยินดีต้อนรับกัลยาณมิตร ขณะนี้วีดีโอสามารถรับชมได้แล้ว โปรดรับชมตามอัธยาศัย

วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

หน้าที่ของพระสงฆ์

หน้าที่ของพระสงฆ์หรือที่เราได้ยินกันบ่อยว่ากิจของสงฆ์มีทั้ง 1.หน้าที่โดยพระธรรมวินัย และ 2. หน้าที่ต่อสังคม

หน้าที่โดยพระธรรมวินัย

หน้าที่โดยพระธรรมวินัย หมายถึง หน้าที่ที่พระธรรมวินัยโดยตรง รวมทั้งหน้าที่ที่คณะสงฆ์กำหนดให้ โดยมีดังต่อไปนี้

1.รักษาศีลให้บริสุทธิ์ โดยที่ต้องรักษาคือ จาตุปาริสุทธิศีล เช่น ปาฏิโมกขสังวรศีล อิทรียสังวรศีล อาชีวปาริสุทธิศีล ปัจจยสันนิตศีล
2.ทำกิจวัตรต่างๆให้ครบถ้วน กล่าวคือ ข้อปฏิบัติที่ต้องทำเป็นประจำ
3.ศึกษาไตรสิกขา อันได้แก่ สีลสิกขา คือ การรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย จิตตสิกขา คือ การทำจิตให้สงบ ปัญญาสิกขา คือ การใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหา
4.บริหารคณะสงฆ์ตามตำแหน่งหน้าที่ พระภิกษุที่อุปสมบทแล้วหลายพรรษาและมีความรู้ทางพระธรรมวินัยพอสมควร มักจะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหาร ซึ่งแต่ละตำแหน่งมีหน้าที่ปฏิบัติต่างๆเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
5.เผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างขว้างออกไป โดยสามารถกระทำได้ทั้งในวัด นอกวัด แม้แต่การเดินทางไปไหนต่อไหนด้วยอาการสำรวมก็ถือว่าเป็นการเผยแผ่ไปด้วย
6.ปฏิสังขรณ์เสนาสนะ และปูชนียสถานในวัด ซึ่งนอกจากการซ่อมแซมแล้วยังต้องสร้างเพิ่มเติม
7.สืบต่อพระพุทธศาสนา ซี่งเป็นหน้าที่ที่ติดไปตลอดการครองสมณเพศตลอดชีวิต

หน้าที่ต่อสังคม โดยจะมีทั้งหมด 7 อย่าง ดังนี้

1.อบรมให้ประชาชนมีคุณธรรม ไม่ทำความชั่ว รู้จักการนำหลักธรรมพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งการที่จะทำกิจกรรมดังกล่าวนี้พระสงฆ์สามารถทำนอกเหนือจากการกระทำปกติ
2.จัดให้มีการอบรมสมาธิ เพื่อให้ประชาชนมีความสงบในจิตใจและมีความเจริญทางปัญญาสูง
3.อุปถัมภ์บำรุงโรงเรียนที่อยู่ในวัด และนอกวัด
4.นำประชาชนมาประกอบพิธีในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
5.อนุรักษ์ศิลปวัตถุ ปูชนียวัตถุ และปูชนียสถาน และแนะนำประชาชนให้อนุรักษ์ด้วย
6.แนะนำส่งเสริมให้ประชาชนพัฒนาท้องถิ่น และรักษาสิ่งแวดล้อม
7.แนะนำประชาชนให้ช่วยกันรักษาป่า และสงวนพันธุ์สัตว์ป่า


หน้าที่ของพระสงฆ์เป็นการแสดงว่าพระสงฆ์นั้นเป็นตัวแทนของพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ถ้าในยุคใดพระสงฆ์ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวคลาดเคลื่อน ในยุคนั้นประชาชนก็จะขาดความนับถือ สังคมไม่เห็นคุณค่าทางพระพุทธศาสนา และพระพุทธศาสนาก็จะเสื่อมลง แต่ถ้าในยุคใดที่พระสงฆ์ปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วน ในยุคนั้นพระสงฆ์ก็จะมีประชาชนนับถือมาก และพระพุทธศาสนาก็จะรุ่งเรือง ซึ่งทำให้เป็นศูนย์รวมทางจิตใจ และเมื่อมีประชาชนมานับถือก็จะสร้างโบราณวัตถุและโบราณสถาน ดังนั้นพระสงฆ์จึงมีความสำคัญในฐานะเป็นตัวแทนของพระพุทธศาสนาที่สืบต่อพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

บทบาทของพระสงฆ์ในการช่วยเหลือประชาชน
การปฏิบัติของพระสงฆ์ที่เป็นการช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ
พระสงฆ์มีบทบาทในการช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆต่อไปนี้

ด้านการศึกษา

ในสมัยก่อน การศึกษามีเฉพาะในวัดและในวัง ในวัดพระสงฆ์เป็นผู้จัดการศึกษาและเป็นผู้สอน ในวังพระมหากษัตริย์ทรงจัดการศึกษา โดยให้ราชบัณฑิต คือ ผู้ที่ลาสิกขาจากพระภิกษุบ้าง พระสงฆ์บ้างเป็นผู้สอน การศึกษามี ๓ ระดับคือ

๑.ระดับเด็กวัด ครอบครัวที่ไม่รู้หนังสือ เมื่อมีเด็กชายอายุได้ ๗-๘ ปีก็นำไปถวายพระเจ้าอาวาสหรือพระผู้ใหญ่ในวัดใกล้บ้านให้เป็นเด็กวัด ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่รับใช้พระสงฆ์แล้ว ยังได้รับการศึกษาตามระดับอันเทียบได้กับระดับประถมศึกษา
๒.ระดับสามเณร ครอบครัวที่รู้หนังสือพอสมควร สอนบุตรของตนเองภายในบ้านให้อ่านออกเขียนได้ เมื่อมีเด็กชายอายุได้ ๑๔-๑๕ ปีก็นำไปบวชเป็นสามเณรในวัดที่คุ้นเคย เด็กวัดที่มีอายุพอกันก็จะบวชเป็นสามเณร ศึกษาภาษา โคลง กลอนซึ่งเทียบได้กับการศึกษาระดับมัธยมศึกษา
๓.ระดับพระภิกษุ เมื่ออายุครบอุปสมบท สามเณรหรือคนภายนอกก็สามารถอุปสมบทได้ ซึ่งพระภิกษุจะได้เรียนธรรมะ ภาษาบาลี ฝึกเทศนา วิชาช่าง การศึกษาระดับนี้เทียบได้กับระดับ อุดมศึกษา

ในสมัยต่อมาจนปัจจุบัน พระสงฆ์ช่วยเหลือในด้านการศึกษาดังนี้ คือ

๑ให้ใช้อาคารวัดในการศึกษา
๒.พระสงฆ์เป็นครูในระดับประถมศึกษา ในกรณีขาดแคลนครู
๓.ให้ใช้ที่วัดสร้างโรงเรียน
๔.ให้การอุปถัมภ์ อุปกรณ์ แก่โรงเรียน
๕.อบรมศีลธรรมแก่นักเรียน
๖.รับเด็กวัดให้เรียนที่โรงเรียนที่ตั้งในวัด
๗.จัดตั้งโรงเรียนพระพุทธศาสนาในวันอาทิตย์ เพื่อให้เยาวชนได้รับการศึกษา
๒. ด้านสุขภาพจิตและกาย
๑.พระสงฆ์บางรูปเป็นหมอยา ใช้วิธีรักษาแผนโบราณ โดยใช้สมุนไพรชนิดต่างๆสามารถรักษาโรคบางชนิดให้หายได้
๒.พระสงฆ์สามารถแนะนำประชาชนให้รู้จักป้องกันโรคต่างๆ รักษาสภาพแวดล้อมในบ้านให้สะอาด
รับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ รู้การไปพบแพทย์
๓.พระสงฆ์สอนให้ประชาชนเข้าใจเหตุผล รู้เท่าทันความเป็นจริง สามารถระงับทุกข์ได้ด้วยตัวเอง
๔. พระสงฆ์สามารถแนะนำผู้ที่มีความทุกข์ ให้ไปปรึกษานักวิชาการ ตามชนิดของความเดือดร้อน
๓.ด้านความเป็นอยู่ของการดำเนินชีวิต
๑.แนะนำอบรมแต่ละคนในครอบครัว ปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหน้าที่
๒.แนะนำให้ทุกคนเว้นจากอบายมุข สิ่งเสพย์ติด และสาเหตุของโรคเอดส์
๓.แนะนำให้ตั้งอยู่ในประโยชน์ปัจจุบัน ๔ ประการ
๔.เป็นสื่อกลางระหว่างรัฐบาลกับประชาชน
๕.สนับสนุนและให้ความร่วมมือด้านอาคารสถานที่
๖.เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ตามประเพณีปฏิบัติ
๔.ด้านพัฒนาชุมชน
๑.พระสงฆ์ริเริ่มและเป็นผู้นำการพัฒนาชุมชนโดยการขอความร่วมมือ
๒.ขอร้องประชาชนสละทรัพย์เพื่อการพัฒนาชุมชน
๓แนะนำประชาชนร่วมมือกับราชการในการพัฒนาคุณภาพชีวิต
๔.เป็นสื่อสารในการนำสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ไฟฟ้า โทรศัพท์
๕.ด้านสังคมสงเคราะห์อื่นๆ
๑.ใช้วัดเป็นที่บรรเทาสาธารณภัย
๒.ให้การสงเคราะห์เด็กกำพร้า
๓.ให้การศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาส
๔.จัดอบรมคนงานให้ดี มีความซื่อสัตย์

หน้าที่ของพระสงฆ์ในการศึกษา ปฏิบัติ และเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา เป็นผู้ที่สละแล้วซึ่งความสุขในทางโลกและความเป็นอยู่แบบชาวบ้าน
ยินยอมพร้อมใจจะประพฤติพรหมจรรย์ อันมีหลักการสำคัญอยู่ 2 ประการคือ

1. นิสสัย 4หมายถึง ต้องอาศัยปัจจัย 4 อย่างดำรงชีวิต ได้แก่

1) ถือบิณฑบาตเป็นกิจวัตร คือ รับประทานอาหารชาวบ้านเลี้ยงชีพ ไม่ประกอบอาชีพใดๆ
2) อยู่โคนต้นไม้เป็นกิจวัตร คืออาศัยอยู่ในป่า ตามโคนต้นไม้ ถ้ำ เป็นต้น ไม่มีที่อยู่ถาวร (ต่อมาอนุญาติให้อยู่เป็นที่ได้ตลอดเวลา 3 เดือน ในฤดูฝน และอยู่ประจำในวัดที่ประชาชนสร้างถวาย)
3) ถือผ้าบังสุกุลเป็นกิจวัตร คือนำเศษผ้าที่เขาทิ้งแล้วมาเย็บทำจีวร (ต่อมาอนุญาตให้ใช้จีวรสำเร็จรูปที่ประชาชนนำมาถวายได้)
4) ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า หมายถึง ฉันยาสมุนไพรที่หาได้ตามมีตามเกิด

2. อกรณียกิจ 4 หมายถึง ไม่ควรกระทำสิ่งเหล่านี้ คือ

1)ไม่เกี่ยวข้องทางกามารมณ์
2)ไม่ลักทรัพย์
3)ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
4)ไม่อวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน


นอกจากนี้พระสงฆ์ยังมีหน้าที่หลักที่จะพึงปฏิบัติหลังจากบวชเข้ามาแล้ว 2 ประการ ได้แก่

หน้าที่ในการศึกษาอบรม
เมื่อบวชเข้ามาแล้วต้องได้รับการศึกษาอบรมทุกด้าน เริ่มตั้งแต่กิริยามรรยาท การพูดจา การเคลื่อนไหวอิริยาบท ตลอดถึงการกระทำต่างๆสรุปว่าต้องฝึกอบรมกาย วาจา และใจ โดยมีอุปัชฌาย์ผู้ทำหน้าที่เสมือนบิดาบังเกิดเกล้าในทางธรรม และอาจารย์ผู้ทำหน้าที่เสมือนพี่คอยแนะนำพร่ำสอน การฝึกฝนอบรมนั้นเน้นให้ครบสมบูรณ์ใน 3 ด้านต่อไปนี้คือ

1.1 ด้านศีล ต้องควบคุมกาย วาจา ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย งดเว้นจากข้อห้ามที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ศีลของพระภิกษุสงฆ์มีอยู่ 2 ประเภท คือ

(1) ศีลในปาติโมกข์ หมายถึงศีลที่สำคัญ 227 ข้อ (สำหรับภิกษุสงฆ์) และ 311 ข้อ (สำหรับภิกษุณีสงฆ์)
(2) ศีลนอกปาติโมกข์ หมายถึงศีลเล็กๆ น้อยๆ นอกเหนือจาก 227 ข้อ และ 311 ข้อข้างต้น เช่น ข้อบัญญัติเกี่ยวกับมรรยาทต่างๆ เพื่อความดีงามของสถาบันสงฆ์

1.2 ด้านสมาธิ ต้องฝึกฝนจิตใจด้วยการฝึกสมาธิวิปัสสนา ซึ่งอาจทำทั้ง 2 วิธีควบคู่กันไปคือ

(1) ฝึกสมถภาวนา ได้แก่ การหาวิธีหรืออุปกรณ์เพื่อให้จิตยึดเหนี่ยวเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วจิตก็จะสงบ สามารถขจัดสิ่งมัวหมองที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาจิตใจ ซึ่งเรียกว่า นิวรณ์ ออกจากใจได้ ผลของการฝึกเช่นนี้เป้าหมายคือทำให้จิตใจให้สงบข่มกิเลสได้ชั่วครั้งชั่วคราว วิธีฝึกมี 40 วิธีแตกต่างกันออกไป
(2) ฝึกวิปัสสนาภาวนา ได้แก่ การฝึกตามวิธีการในข้อ (1) นั่นเอง พอจิตเป็นสมาธิหรือสงบระดับหนึ่งแล้ว ก็ใช้สมาธินั้นเป็นพื้นฐานพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแท้ ความเป็นทุกข์ ความไม่มีตัวตนแท้จริงของสรรพสิ่ง จนกระทั่งเกิดการหยั่งรู้สภาวะทั้งหลายตามเป็นจริง จิตปล่อยวางจากการยึดมั่นถือมั่น เป็นอิสระแท้จริงจากพันธะของกิเลส เป้าหมายของการฝึกจิตแบบนี้มุ่งไปที่ปัญญาความรู้แจ้ง และสละกิเลสได้เด็ดขาด
จิตที่ผ่านการฝึกฝนด้วยวิธีการทั้ง 2 ข้างต้นนั้น จะเป็นจิตที่สมบูรณ์ใน 3 ด้าน คือ มีความนุ่มนวลอ่อนโยน เช่น เมตตากรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นอกเห็นใจคนอื่น (มีสุขภาพจิตดี) มีความเข้มแข็ง เช่น มีขันติ (ความอดทน) ความยับยั้งชั่งใจ ความเพียร ความกล้าหาญ การไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ความใฝ่สัมฤทธิ์สูง (มีสมรรถภาพจิตดี) มีความสุขสบาย ผ่อนคลายโปร่งใส เช่น มีปีติ โสมนัส ความไม่ยึดมั่นถือมั่น รู้จักเข้าใจคนอื่นและให้อภัยคนอื่น (มีสุขภาพจิตดี)

1.3 ด้านปัญญา พระสงฆ์จะต้องศึกษาอบรมตนให้เป็นผู้มีปัญญา ให้สมกับเป็นผู้นำทางสติปัญญาของชาวบ้าน ปัญญามี 2 ระดับคือ

(1) ปัญญาระดับสุตะ คือความรู้ระดับโลกิยะที่คนทั่วๆไปจะพึงมี เช่นการศึกษาเล่าเรียนด้วยการฟัง การจำข้อมูลต่างๆที่เป็นประโยชน์ กล่าวสั้นๆก็คือสรรพวิทยาการทั้งหลายนั่นเอง พระสงฆ์ต้องเรียนรู้วิชาการด้านต่างๆที่จำเป็น จนกระทั่งเป็น "พหูสูต" (ผู้คงแก่เรียน) เพื่อที่จะได้ให้คำแนะนำชาวบ้านได้ และที่สำคัญความรู้เหล่านี้จะได้เป็นเครื่องมือหรือ "สื่อ" สำหรับถ่ายทอดคำสอนทางพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี เช่น พระสงฆ์ที่มีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ ย่อมสามารถอธิบายหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ในแง่วิทยาศาสตร์แก่นักวิทยาศาสตร์ได้เป็นอย่างดี เป็นต้น
(2) ปัญญาระดับญาณ คือความหยั่งรู้สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ปัญญาระดับนี้ไม่จำเป็นจะต้องต่อมาจากปัญญาระดับสุตะ หมายความว่า คนที่คงแก่เรียน มีความรู้วิทยาการมากๆไม่จำเป็นจะต้องมีญาณหรือเกิดญาณได้ง่าย ชาวไร่ชาวนาที่มีวิถีชีวิตอย่างเรียบง่าย อาจมีความรู้ระดับญาณได้ง่ายกว่านักปราชญ์ก็ได้ ปัญญาระดับญาณนี้ เกิดได้ทางเดียวคือผ่านการฝึกสมาธิวิปัสสนา ปัญญาระดับนี้วัดได้ด้วยการเข้าใจโลกและชีวิตการปล่อยวางความติดยึดตามลำดับ การลดละความโลภ โกรธ หลง ให้ลดลง จนกระทั่งหมดไปโดยสิ้นเชิง

พระสงฆ์ในอุดมคตินั้นท่านสามารถปฏิบัติตนให้เพียบพร้อมด้วยศีล สมาธิ และ ปัญญา ดังกล่าวมาแล้ว จึงอยู่ในฐานะเป็นปูชนียบุคคลของชาวพุทธ


หน้าที่ในการปฏิบัติและเผยแผ่พระพุทธศาสนา


เมื่อฝึกฝนอบรมตนให้พร้อมทั้งด้านศีล สมาธิ และปัญญาแล้ว พระสงฆ์ยังจะต้องปฏิบัติภารกิจที่สำคัญ คือ การเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า การเผยแผ่พระธรรมจะได้ผลดีนั้น พระสงฆ์ต้องทำตนให้เป็น "กัลยาณมิตร" คือเพื่อนที่แท้ ที่คอยชี้แนะแนวทางให้พุทธศาสนิกด้วยความหวังดี ซึ่งขอกล่าวโดยสรุป 5 ประการ คือ

1) สร้างศรัทธาในพระพุทธศาสนาและทำตนเป็นตัวอย่างที่ดี พระสงฆ์ต้องพยายามชักชวนและชี้แจงให้ประชาชนเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ให้มั่นใจในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา เช่น ถ้ามีบางคนเช้าใจว่าพระพุทธศาสนาสอนหลักธรรมที่สูงเกินไปกว่าสามัญชนจะปฏิบัติได้ ก็ชี้แจงให้เขาเข้าใจว่า ที่จริงแล้วพระพุทธศาสนาสอนธรรมะไว้ถึง 3 ระดับ คือ ระดับพื้นฐาน เน้นไปที่การประสบความสำเร็จ การมีความสุขแบบชาวโลก การพึ่งตนได้ทางเศรษฐกิจ ระดับกลาง เน้นไปที่ความมีคุณธรรมจริยธรรมและ ระดับสูง เน้นไปที่การลดละกิเลสได้เด็ดขาด ธรรมะคำสอนของพระพุทธศาสนาจึงเหมาะแก่คนทุกระดับ ใครพอใจหรือมีความสามารถปฏิบัติได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น แล้วค่อยพัฒนาให้ก้าวสูงขึ้นไปตามลำดับ
อนึ่ง วิธีสร้างศรัทธาที่ดีที่สุดก็คือการสอนด้วยตัวอย่าง พระสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ งดงามไปด้วยศีล สมบูรณ์ไปด้วยคุณธรรม มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ถึงจะไม่สั่งสอนอะไรใครมาก ก็ทำให้ผู้พบปะเสวนาด้วยเกิดความเลื่อมใสได้เป็นอย่างดี

2) สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในบางครั้งบางคนอาจจะไม่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา มิใช่เพราะพระพุทธศาสนาสอนไม่ดี แต่เพราะไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิด จึงเหมาเอาว่าพระพุทธศาสนาไม่ดี ไม่น่าเลื่อมใสศรัทธา ยกตัวอย่างเช่น กล่าวหาว่าพระพุทธศาสนาสอนหลักธรรมที่ขัดกับการพัฒนาคนและสังคม เพราะพระพุทธศาสนาสอนให้กำจัดตัณหา โดยเขาให้เหตุผลว่า การจะพัฒนาอะไรได้นั้น ต้องเร้าให้คนเกิดความอยาก เกิดความต้องการ เมื่อต้องการมากๆก็จะกระทำหรือพัฒนาตนมากขึ้นเอง พระพุทธศาสนาสอนให้ละความอยากก็เท่ากับสอนให้คนงอมืองอเท้า ไม่สร้างสรรค์นั่นเอง
พระสงฆ์ผู้เผยแผ่ธรรมะจะต้องสามารถชี้แจงให้เกิดความเข้าใจให้ได้ว่า ความอยากที่เรียกว่า "ตัณหา" นั้น เป็นความโลภและทุจริต คนที่อยากด้วยอำนาจความโลภและทุจริต ย่อมจะกระทำการอะไรเพื่อตนเองและสร้างความเดือดร้อนแก่สังคมเป็นอย่างมาก ถ้ายิ่งเร้าให้คนเกิดความอยากชนิดนี้มากเท่าใด สังคมก็จะเต็มไปด้วยคนโลภ คนทุจริต คนที่เอารัดเอาเปรียบสังคม หาความสงบสุขได้ยาก ความอยากอย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้พยายามลดละให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ความอยากสร้างสรรค์ เช่น อยากทำความดี อยากช่วยเหลือคนอื่น อยากเรียนหนังสือให้มีความรู้มากๆเพื่อออกไปรับใช้ชาติ ท่านเรียกว่า "ธรรมฉันทะ" คนที่มีความอยากชนิดนี้เป็นคนไม่โลภ ไม่ทุจริต จะตั้งหน้าตั้งตาทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ความอยากชนิดนี้เท่านั้นที่สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง สรุปให้เข้าใจง่ายๆก็คือ "พระพุทธศาสนาสอนให้กำจัดความ อยากที่เรียกว่าตัณหา แต่ให้พัฒนาความอยากที่เรียกว่า ธรรมฉันทะ"

3) สอนให้ละความชั่ว คนทุกคนชอบความดีเกลียดความชั่ว แต่ทั้งๆที่ชอบความดีเกลียดความชั่ว ในบางครั้งบางคนก็อดทำความชั่วไม่ได้ เพราะความหลงผิดบ้าง เพราะจิตใจไม่เข้มแข็งพอบ้าง หน้าที่ของพระสงฆ์อีกประการหนึ่งก็คือ พยายามหาวิธีให้คนละทำความชั่วแต่ให้พึงทำความดีให้ได้ สิ่งใดบอกให้เข้าใจได้ก็บอก สิ่งใดบอกด้วยปากไม่ได้ผลก็ต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ดังกรณีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เดินไปเห็นเนื้อติดบ่วงนายพรานอยู่จึงปล่อยเนื้อตัวนั้น แล้วเอาบ่วงผูกขาตนเองแทน เมื่อนายพรานเจ้าของบ่วงมาพบเข้า จึงสำนึกว่าท่านมาแสดงปริศนาธรรม มาสั่งสอนตนให้งดเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ซึ่งนายพรานก็ยอมทำตามคำสั่งสอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ จึงเลิกอาชีพการเป็นนายพรานนับตั้งบัดนั้น ดังนี้เป็นต้น

4) สนับสนุนให้ทำความดี พระสงฆ์ต้องสร้างเสริมกำลังใจให้คนทำความดี มีเทคนิควิธีแนะนำที่เหมาะแก่บุคคล เพราะคนเรานั้นมีพื้นฐานและความสนใจไม่เหมือนกัน ผู้สอนจึงต้องรู้จักปรับวิธีการแนะนำสั่งสอนให้เหมาะแก่คนแต่ละคนว่าจะเป็นเรื่องใด ดังกรณีผู้ปฏิบัติสมาธิ บ่นกับอาจารย์สอนสมาธิรูปหนึ่งว่า เขาหมดกำลังใจปฏิบัติแล้ว ยิ่งปฏิบัติเท่าใดก็มีแต่ความฟุ้งซ่าน ไม่ได้ผลอะไรเลย อาจารย์ตอบว่า "อย่างน้อยโยมก็ได้แล้ว คือได้ความรู้ว่าจิตโยมฟุ้งซ่าน ถ้าปฏิบัติต่อไปเรื่อยๆโยมก็อาจจะได้มากกว่านี้ ขอให้ทำต่อไปเถอะ ความดีมิใช่ว่าทำได้ในภายในวันสองวัน อย่างนี้เป็นต้น

5) สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพไว้สืบทอดพระพุทธศาสนา ถึงพระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว พระธรรมวินัย (พระพุทธศาสนา) ก็ยังคงอยู่ เพราะได้รับการปฏิบัติสืบต่อกันมา พุทธบริษัททั้งหลาย โดยเฉพาะภิกษุบริษัทมีหน้าที่สืบทอดพระพุทธศาสนาโดยตรงจึงต้องสร้างศาสนทายาทที่มีคุณภาพไว้ด้วย ศาสนทายาทที่มีคุณภาพจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ คือ

1. มีความรู้พระพุทธศาสนาดี
2. มีความประพฤติดี สามารถปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาจนได้รับผลแห่งการปฏิบัติ
3. มีความสามารถในการถ่ายทอด คือ ชี้แจงหลักการของพระพุทธศาสนาให้คนอื่นเข้าใจได้
4. เมื่อมีภัยเกิดขึ้นแก่พระพุทธศาสนา พร้อมที่จะปกป้อง

การสร้างบุคลากรไว้สืบทอดพระพุทธศาสนานั้นเปรียบได้ดั่งตระกูลที่ไม่มีทายาทสืบทอด แม้จะมั่งคั่งมั่นคงเพียงใดในเบื้องต้น ที่สุดก็จะอยู่ไม่ได้ เฉกเช่นเดียวกับพระพุทธศาสนา แม้จะมีคำสอนที่ดีวิเศษเพียงใด ถ้าขาดศาสนทายาทสืบทอดต่อๆกันมา ก็สูญสลายไปเช่นนั้น" ฉะนั้น พระสงฆ์ที่มองการณ์ไกลท่านจึงพยายามสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ ไว้สืบทอดพระพุทธศาสนาให้มั่งคงสถาพรต่อไป

3 ความคิดเห็น: