Wellcome

ยินดีต้อนรับกัลยาณมิตร ขณะนี้วีดีโอสามารถรับชมได้แล้ว โปรดรับชมตามอัธยาศัย

วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ทำไมพระพุทธองค์ทรงเลือกเฟ้นสัมมาปฏิปทาแห่งทางสายกลาง

ทำไมพระพุทธองค์ทรงเลือกเฟ้นสัมมาปฏิปทาแห่งทางสายกลาง
Why the Middle Path Is Chosen as the Right Path
 
อาจารย์นิธี ศิริพัฒน์

เฉลิมฉลอง “พุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี วันวิสาขบูชา วันจันทร์ที่ มิถุนายน .. ๒๕๕๕
Siripat.Com and Academiae Network 2012
 
…………………………………………………………………………………………………………………………

ทำไมพระพุทธองค์ทรงเลือกเฟ้นสัมมาปฏิปทาแห่งทางสายกลาง

ความหมายของคำว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” แบ่งออกเป็น ๒ นัย คือ “มัชฌิมา” แปลว่า กลาง ไม่หนักเกินไป ไม่เบาเกินไป “ปฏิปทา” แปลว่า แนวทางประพฤติปฏิบัติ เมื่อนำความหมายมารวมกัน “มัชฌิมาปฏิปทา”แปลว่า “ทางสายกลาง” ซึ่ง (๑) ว่าด้วยการเว้น “ที่สุด” ๒ อย่าง นั่นคือเรียกว่า “อันตา ๒” คือ ที่สุด ข้อปฏิบัติหรือการดำเนินชีวิตที่เอียงสุด ผิดพลาดไปจากทางอันถูกต้องคือ “มัชฌิมาปฏิปทา” ได้แก่

(๑) แนวคิดที่ ๑ กามสุขัลลิกานุโยค หมายถึง การหมกมุ่นอยู่ด้วยกามสุข โดยสำคัญผิดว่าเป็นแนวทางแห่งความหลุดพ้นสู่สันติบท ดังเช่น ชีวิตฆราวาสของพระพุทธองค์ที่ได้รับการเสพบำเรอด้วยกามสุขอย่างล้นเหลือ คือ กามราคะและโภคทรัพย์ ซึ่งเป็นไปตามความเชื่อกระแสคติขัตติยะอินเดียโบราณ โดยความหวั่นไหวว่าพระองค์จะทรงออกผนวชตามคติที่สองว่า จะได้เป็นจอมศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ในโลก

(๒) แนวคิดที่ ๒ อัตตกิลมถานุโยค หมายถึง การประกอบความลำบากเดือดร้อนแก่ตนเอง การบีบคั้นทรมานตนให้เดือดร้อน โดยสำคัญผิดว่าเป็นแนวทางแห่งความหลุดพ้นสู่สันติบท ดังเช่น พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยามาก่อน ซึ่งเป็นไปคติของพราหมณ์และฮินดู คือ ความเคร่งครัดในศีลพรต (สีลัพพตปรามาส) ด้วยวิธีที่เรียกว่า “กฎประกาศิต” (Prescriptivism) นั่นคือ การขาดเหตุผลทั้งทางภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งตรงกันข้ามกับ “มัชฌิมาปฏิปทา” ที่เป็น “กฎแบบเชิงพรรณนา”(Descriptivism) ตามเหตุผลที่เป็นจริงโดยอิงกับข้อมูลที่ปรากฏจริงตามธรรมชาติ

สำหรับ (๒) ว่าด้วย “อริยสัจจ์ ๔” ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ญาณ ๓ (สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ)คือ ญาณทัสสนะอันมีปริวัฏฏ์ ๓ อันทำให้พระองค์สามารถปฏิญาณว่า ได้ตรัสรู้ “อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ” คือ ญาณแห่งความตรัสรู้เองโดยชอบอันยอดเยี่ยม ซึ่ง “มัชฌิมาปฏิปทา” หมายถึง “มรรคมีองค์ ๘” นั่นเอง “อริยสัจจ์ ๔” คือ ความจริงอันประเสริฐที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็น“อริยบุคคล” ได้แก่

(๑) ทุกข์ คือ ความทุกข์ สภาพที่ทนได้ยาก สภาวะที่บีบคั้น ขัดแย้ง บกพร่อง ขาดแก่นสารและความเที่ยงแท้ ไม่ให้ความพึงพอใจแท้จริง ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความปรารถนาไม่สมหวังโดยย่อว่า “อุปาทานขันธ์ ๕” เป็นทุกข์
(๒) ทุกขสมุทัย คือ เหตุเกิดแห่งทุกข์ สาเหตุให้ทุกข์เกิด ได้แก่ ตัณหา ๓ คือ กามตัณหาภวตัณหา และ วิภวตัณหา
(๓) ทุกขนิโรธ คือ ความดับทุกข์ ได้แก ่ ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป ภาวะที่เข้าถึงเมื่อกำจัดอวิชชา สำรอกตัณหาสิ้นแล้ว ไม่ถูกย้อม ไม่ติดข้อง หลุดพ้น สงบ ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ คือ “นิพพาน”
(๔) ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา คือ สัมมาปฏิปทาที่นำไปสู่ความดับแห่งทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก  “อริยอัฏฐังคิกมรรค” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า“มัชฌิมาปฏิปทา” แปลว่า “ทางสายกลาง” มรรคมีองค์ ๘ นี้ สรุปลงในไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา

ตามความเป็นจริง “มัชฌิมาปฏิปทา” หมายถึง “มรรคมีองค์ ๘” [/b[b]]คือ “อัฏฐังคิกมรรค” เรียกเต็มว่า “อริยอัฏฐังคิกมรรค” แปลว่า “ทางมีองค์แปดประการ อันประเสริฐ” ได้แก่

(๑) สัมมาทิฏฐิ คือ เห็นชอบ ได้แก่ ความรู้อริยสัจจ์ ๔ หรือ เห็นไตรลักษณ์ หรือรู้อกุศลและอกุศลมูลกับกุศลและกุศลมูล หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท
(๒) สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ ได้แก่ เนกขัมมสังกัปป์ อพยาบาทสังกัปป์ อวิหิงสาสังกัปป์
(๓) สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ ได้แก่ วจีสุจริต ๔
(๔) สัมมากัมมันตะ คือ กระทำชอบ ได้แก่ กายสุจริต ๓
(๕) สัมมาอาชีวะ คือ เลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ เว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ
(๖) สัมมาวายามะ คือ พยายามชอบ ได้แก่ ปธาน หรือ สัมมัปปธาน ๔
(๗) สัมมาสติ คือ ระลึกชอบ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔
(๘) สัมมาสมาธิ คือ ตั้งจิตมั่นชอบ ได้แก่ ฌาน ๔

หลักธรรม “มรรคมีองค์ ๘” จะสนับสนุนแนวคิด (Approach) ในการค้นหาวิธีเพื่อความสำเร็จในความตรัสรู้บรรดาธรรมที่ทำให้เป็นอริยบุคคล ในการค้นหาความจริงอันประเสริฐ เรียกว่า “อริยสัจจ์ ๔” ซึ่งอยู่บนหลักการที่ว่า ต้องผ่านกระบวนการทำให้ไตรสิกขาเกิดความบริสุทธิ์สมบูรณ์ ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ตามปกติให้กลายเป็น อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา พระพุทธองค์ทรงเน้นความตรัสรู้ทั้ง “เจโตวิมุตติ” คือ ความสิ้นอาสวะด้วยอำนาจทางสมาธิ ซึ่งเป็นด้านสมถภาวนาและ “ปัญญาวิมุตติ” คือ ความสิ้นอาสวะด้วยอำนาจทางปัญญา ซึ่งเป็นด้านวิปัสสนาภาวนา

อันดับสุดท้าย คือ (๓) ว่าด้วย “กฎธรรมชาติ” เพราะการค้นหาความจริงโดยปรมัตถ์ ซึ่งเป็นความหมายอันสูงสุด (Ultimate Meaning) คือ คำอธิบายหรือพรรณนาถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงในธรรมชาติ ปราศจากการปรุงแต่งด้วยปัจจัยทั้งหลาย เช่น ไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท–อิทัปปัจจยตา ธรรมนิยาม หรือ ปัจจัย ๒๔ ซึ่งเป็น “ความรู้ที่บริสุทธิ์” (Pure Knowledge) หรือ“โลกุตตรสัมมาทิฏฐิ” เรียกอีกอย่างว่า “โลกุตตรปัญญา” หมายถึง ปัญญาที่สัมปยุตต์ด้วยโลกุตตรมรรค ความรู้ที่พ้นวิสัยของโลก หรือความรู้ที่ช่วยคนให้พ้นโลก ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น หมายถึง“อริยสัจจธรรม” นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น